วัดอมฤตวารี (วัดหนองน้ำคัน)

วัดอมฤตวารี (วัดหนองน้ำคัน)

วัดอมฤตวารีเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี ริมถนนสายเอเชียตอนอ้อมเมือง (By pass) ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี วัดนี้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๕ แต่เดิมมีชื่อว่า วัดหนองน้ำคัน เพราะตั้งอยู่ใกล้หนองน้ำใหญ่ซึ่งมีอาถรรพณ์ใครลงไปอาบก็จะรู้สึกคันจนกว่าน้ำที่เปียกตัวแห้งถึงจะหายคันแม้วัว ควาย ลงไปก็ต้องรีบขึ้น

ในปีพ.ศ.2482 พระสุนทรมุนี (พุฒ สุทัตตเถระ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี (ปัจจุบันมีสมนศักดิ์เป็นพระราชอุทัยกวี) และสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์นั้น พิจารณาชื่อวัดหนองน้ำคันไม่เป็นมงคลนามจึงให้เปลี่ยนใหม่เป็น วัดอมฤตวารี แปลว่า วัดที่มีน้ำดื่มกินได้ชุ่มชื่นดุจน้ำอมฤต วัดนี้มีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่น่าศึกษาหลายอย่าง อาทิเช่น เจดีย์ 5 องค์ ,อุโบสถ,วิหาร,กุฎิหน้าอุโบสถ เป็นต้น

เจดีย์ 5 องค์ วัดอมฤตวารี

เมื่อเริ่มสร้างวัดไม่อาจชี้ชัดได้ว่าพ.ศ.ใดแน่ฝีมือ  จัดว่าอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับการซ่อมแซมเมื่อพ.ศ.2431-2442 เป็นเจดีย์แบบทรงมอญมี 5 องค์ องค์กลางใหญ่เจาะซุ้มพระไว้ทั้ง 4 ทิศองค์เจดีย์ชั้นแรกทำคล้ายลอมฟางแล้วสร้างส่วนยอดเป็นเจดีย์ซ้อนขึ้นไป มีเจดีย์รายองค์เล็กล้อมเจดีย์ใหญ่ทั้ง 4 มุม รวมเป็น 5 องค์ เจดีย์ทั้ง 5 มีปูนปั้นเป็นลวดลายประดับที่คอระฆังทำเป็นบัวแก้ว

ปัจจุบันที่เจดีย์องใหญ่ได้สร้างซุ้มไว้ประดิษฐานรูปปั้น หลวงพ่อจ้อย (อดีตเจ้าอาวาส) เพิ่มขึ้นภายหลังเจดีย์แบบลอมฟางศิลปะมอญแบบนี้ยังมีที่วัดใหญ่ตำบลบ้านเก่า อำเภอหนองฉาง อีกแห่งหนึ่งฝีมือการสร้างสวยงามมาก นับว่าเป็นโบราณสถานที่มีค่ายิ่ง

ปัจจุบันบริเวณเจดีย์มีอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของชาวบ้าน  สร้างเรียงรายปะปนอยู่ทำให้เจดีย์ทั้ง 5 ด้อยคุณค่าลงไป จึงเห็นเป็นการไม่สมควรที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานแห่งนี้

                 

อุโบสถหลังเก่า

เป็นอุโบสถขาดเล็ก มีประตูเพียงประตูเดียวผิดจากวัดอื่นๆ ซึ่งมักมี 2 ประตู ก่อสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หน้าบันและที่บานหน้าต่างแกะสลักเป็นลายลดน้ำ ลวดลายเป็นก้านขดสวยงาม (ปัจจุบันลวดลายเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น)

สันนิษฐานว่าอุโบสถหลังนี้คงซ่อมแซมใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยฝีมือช่างท้องถิ่นมีลักษณะการเขียนสีบาง พื้นฉากหลังเป็นสีอ่อน เขียนเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารผจญ แสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา และเสด็จลงจากดาวดึงส์ เวสสันดรชาดก ตั้งแต่กัณฑ์ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ เหนือระดับหน้าต่างมีภาพเทพชุมนุม การเขียนมีลักษณะเป็นศิลปะไทยผสมจีนภาพที่เป็นแบบจีน เช่น ป้อมกำแพง , ศาลารายแบบเก๋งจีน

ผนังด้านหลังพระประธาน ตอนบนเหนือขอบประตู เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ถัดลงมาที่ผนังข้างประตูทั้ง ๒ ด้านเป็นภาพป่าหิมพานต์

ผนังด้านหน้าพระประธาน ตอนบนเหนือประตู เป็นภาพพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่ำลงมาทางด้านซ้ายของประตู เป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

ผนังด้านทิศใต้ตอนบน เขียนภาพเทพชุมนุม สลับพัดยศทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เป็นเรื่องราวเวสสันดรชาดก ตอนนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์(กัณฑ์ทศพร) ภาพอภิเษกสมรสของพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี(หิมพานตวรรณนา) ภาพพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหม์ ๘ คนจากเมืองกลิงคราษฎร์ ภาพพระเวสสันดรพระนางมัทรี กัณหา และชาลี เสด็จออกจากเมือง(กัณฑ์วนประเวศ) ภาพพระอินทร์เนรมิตอาศรมให้พระเวสสันดร ภาพชูชกกับนางอมิตดา(ชูชกบรรพ)

ผนังด้านทิศเหนือ ภาพเทพชุมนุมสลับพัดยศทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ภาพชูชกพบพรานเจตบุตร ภาพพระอัจจุตมหามุนีบอกทางแก่ชูชก ภาพชูชกทูลขอกัณหาและชาลีจากพระเวสสันดร ภาพพระนางมัทรีพบพาพัมฤคทั้ง ๓ ภาพชูชกพากัณหาและชาลีเดินทางมาในป่า ภาพพระอินทร์แปลงร่างเป็นพราหม์แก่ ทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดรพระเวสสันดรก็ยอมยกให้ ภาพพระเจ้ากรุงสัญชัยไถ่ตัวกัณหาและชาลีจากชูชก ภาพพระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีเสด็จสู่สำนักพระเวสสันดร ภาพพระเวสสันดรลาผนวชแล้วกษัตริย์ทั้ง ๖เสด็จกลับเมือง

ที่หน้าอุโบสถมีเจดีย์ลักษณะย่อไม้สิบสองอยู่องค์หนึ่ง น่าจะสร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนปลายต่อมาได้รับการซ่อมแซมในปี พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๔๒ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้ได้ซ่อมแซมใหม่ ในปี พ.ศ.2540

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์