การทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้

การทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าประชาชนในเขตพื้นที่ บ้านหาดทนง  ตำบลหาดทนง  บ้านบางกุ้ง  ตำบลสะแกกรัง  อำเภอเมืองอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี  และประชาชนในเขต พื้นที่บ้านหนองอีเติ่ง  ตำบลน้ำทรง  อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์  มีอาชีพดั้งเดิมในการผลิตอาวุธปืน (เถื่อน) ด้วยภูมิปัญญาของตนเองมาเป็นเวลานานมากเท่าไร  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดสืบต่อเนื่องกันมานาน โดยมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ จากหลักฐานของกลางที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี  และจังหวัดนครสวรรค์ได้จับกุมในแต่ละครั้งแล้วได้มีการตรวจสอบ  และทดลองใช้ดูแล้วจึงทราบว่ามีการพัฒนาอาวุธปืนขึ้นเรื่อยๆ จนทันสมัยมากถึงขั้นใช้แบบอัตโนมัติได้เป็นอย่างดี  ปืนที่ชาวบ้านทำนั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางทำลายล้าง  ฆ่าฟันกันมากกว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัว ทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามอาชีพนี้นับว่าเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงได้มีการปราบปรามกันอย่างจริงจัง  ชาวบ้าน  ดังกล่าวจึงไม่สามารถประกอบอาชีพผลิตอาวุธปืนเถื่อนต่อไปได้  จึงต้องหาวิธีการให้ประชาชนที่มีความชำนาญในอาชีพนี้หันมาประกอบอาชีพที่คล้ายคลึงกัน  แต่จะต้องไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป  อาชีพนี้ก็คือ  การทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้

ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2528 บก.ภ.9 ได้ออกแผนป้องกันปราบปรามแหล่งผลิตอาวุธปืนและพัฒนาผู้กระทำผิด “สี่แคว 6/28” เพื่อดำเนินการในพื้นที่บ้านอีเติ่ง ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์  และในพื้นที่บ้านบางกุ้ง  ตำบลสะแกกรัง  และบ้านหาดทนง  ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพื่อรองรับตามนโยบายของ บก.ภ.9 กก.ภ.จว.อุทัยธานี  จึงได้ออกโครงการเสริมอาชีพราษฎรขึ้นมาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายต่อไป  ซึ่งเรียกว่า  โครงการฝึกอาชีพเสริมราษฎรของ กก.ภ.จว.อุทัยธานี  ซึ่งมีเหตุผลดังนี้

บก.ภ.9 ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้า  บ้านหนองอีเติ่ง  ตามแผนสี่แคว 6/2528  ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2528 เพื่อผลิตเครื่องมือการเกษตรให้กับผู้ละเลิกผลิตอาวุธปืนในเขตอำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี จัดตั้งขึ้นที่บ้านหนองอีเติ่ง ตำบลน้ำทรง  อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีผู้สามารถผลิตเครื่องมือเกษตรโดยเฉพาะทำจากโลหะ  เหล็ก  และส่วนประกอบโลหะอื่น ซึ่งได้แก่  มีอเนกประสงค์  มีตัดต่อกิ่งไม้  เป็นต้น ได้ผลดีแต่การขายจะต้องนำไปขายยังท้องถิ่นที่ต่างจังหวัด  และไม่สามารถจำหน่ายแก่ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี  ราษฎรผู้มอบอาวุธปืนไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เพราะขาดทุนทรัพย์  ขาดน้ำ  และพื้นที่ดินแห้งแล้ง จึงยากแก่การปรับปรุงพื้นดินทางการเกษตรและไม่มีอาชีพอื่น  ทาง บก.ภ.9 จึงได้ออกแผน “สี่แคว 6/2528” ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2528

แต่เนื่องจากผู้ละเลิกการผลิตอาวุธปืนที่มอบให้กับทางราชการก็ดี  ที่ยังไม่มามอบก็ดี  ปรากฏว่าทางการสืบสวนทราบว่า  ยังมีราษฎรฝ่าฝืนไม่ละเลิกการผลิตอาวุธปืนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม  เป็นการกระทำที่ยังขาดความรับผิดชอบ

กก.ภ.จว.อุทัยธานี จึงมีโครงการสร้างงานเสริมอาชีพให้กับราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลหาดทนง  และตำบลสะแกกรัง  อำเภอเมืองอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี  โดยออกแผนรองรับแผนสี่แคว 6/2528 ของ บก.ภ.9  โดยความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ  ในจังหวัดอุทัยธานีและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง  โดยกำหนดความมุ่งหมายในการที่จะตั้งร้านจำหน่ายผลผลิตเครื่องมือการเกษตรจากศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้าหนองอีเติ่ง  และจะสร้างเสริมอาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี  ที่บ้านหาดทนง  ตำบลหาดทนง  อำเภอเมืองอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี

 

ที่มาของชื่อ “ศูนย์ฝึกอาชีพ นพเก้า”

กองบังคับการตำรวจภูธร 9 โดย พล.ต.ท.นพเก้า ธัญญสิริ  ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ 9 ขณะนั้น  ได้พิจารณาเห็นว่าเมื่อการปฏิบัติตามแผนสี่แคว 6/2528 สิ้นสุดลง  ประชาชนใน  พื้นที่ ตำบลหาดทนง และตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ที่เลิกผลิตอาวุธ (ปืนเถื่อน) ยังไม่มีอาชีพอื่น อาจจะหวนกลับไปลักลอบผลิตอาวุธปืนเถื่อนอีก  จึงจัดทำโครงการปราบปรามและพัฒนาแหล่งผลิตอาวุธปืนเถื่อนลงวันที่ 7 ตุลาคม 2528  เป็นการพัฒนาอาชีพ มอบหมายให้ ผกก.ภ.จว.อุทัยธานี และ ผกก.ภ.จว.นครสวรรค์ เป็นผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด

กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี  ได้จัดหาที่ดินที่ติดกับตู้ยามหาดทนง โดยมี   นายเจริญ  บุญเกตุ  และนางชั้น  พุดโหมด  ได้มอบที่ดินคนละ 1 งาน รวม 2 งาน และได้จัดหาทุนจากภาคเอกชนสนับสนุนซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 ไร่ รวมพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน  เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเสริมให้ราษฎร ซึ่งเป็นอาชีพใหม่สำหรับผู้ที่จะเลิกผลิตอาวุธปืนเถื่อนมาผลิตเครื่องมือที่ใช้เพื่อการเกษตร  โดยจ่ายค่าแรงให้กับสมาชิกมีรายได้ ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี โดย พ.ต.อ.จุลสิงห์ ประภาสะโนบล ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์ฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร  เป็นชื่อ  ศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้า  เพื่อเป็นเกียรติแก่  พล.ต.ท.นพเก้า  ธัญญสิริ  ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้

 

วิธีการปฏิบัติงานและกระบวนการผลิต

            แนวคิดและการออกแบบ

            แนวคิดของชาวบ้านที่ทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ ได้มาจากทักษะความชำนาญและประสบการณ์เดิมที่ทำอาวุธปืนนั่นเอง  เพราะชาวบ้านพวกนี้ทำปืนมานานจนเคยชิน  ดังนั้นการออกแบบทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ก็เลยช่วยกันคิด  และออกแบบคล้ายปืนไปหมด  เช่น  มีไกคล้ายไกปืน  และล๊อคได้ด้วย  มีท่อแป๊ปกลมยาว  ซึ่งมีขนาดคล้ายลำกล้องของปืนลูกซอง  มีด้ามกรรไกรเป็นไม้จริงประกอบเหล็ก  ทำลักษณะคล้ายด้ามปืนและกลไกการทำงานของกรรไกรทุกแบบ  ไม่ว่าจะเป็นแบบสั้นหรือแบบยาว  คล้ายกลไกการทำงานของปืนทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดและการออกแบบของภูมิปัญญาชาวบ้านหาดทนง  บางกุ้ง  และอีเติ่งทั้งหมดโดยแท้จริง

 

            วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ

  1. เหล็กเส้น ขนาด ¼ นิ้ว (2 หุน) ใช้ทำไส้กรรไกรแบบยาว สำหรับสอยกิ่งไม้หรือผลไม้สูงๆ
  2. เหล็กแผ่น ขนาดกว้าง 3 ½ นิ้ว ยาว 3 เมตร ใช้ทำกรรไกร
  3. เหล็กแผ่นอย่างดี ขนาดกว้าง 3 ½ นิ้ว (ยาวเท่าไรไม่กำหนด) ใช้ทำปากมีด (ต้องซื้อจากหมู่บ้านอรัญญิก  อ.นครหลวง  จ.พระนครศรีอยุธยา)
  4. น๊อต (มีหลายขนาด)
  5. สปริง
  6. ไม้เนื้อแข็ง ใช้ทำด้ามกรรไกร
  7. ลูกผ้าขัดใบมีด ให้ขาวมันและคม
  8. น้ำยาไขปลาวาฬ ใช้ขัดใบมีดให้เงามัน
  9. น้ำยาชุบแข็ง ทาใบมีด และเผาให้ร้อนมากๆ
  10. น้ำยาเชื่อมเหล็ก (น้ำยาประสาน)
  11. ทองเหลืองเชื่อมเหล็ก
  12. ลวดผูกเหล็กใช้มัดเหล่อนก่อนเชื่อม
  13. ตะปู ขนาด 2 ½ นิ้ว ใช้ย้ำเหล็กขนาด 2 แผ่นขึ้นไปให้ติดกัน
  14. อลูมิเนียมเส้นกลมกลวง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ¾ นิ้ว (6 หุน) ยาว 6 เมตร ใช้ทำกระบอกตัวกรรไกรแบบยาว สำหรับสอยผลไม้หรือแต่งกิ่งไม้สูงๆ
  15. อลูมิเนียมแบน ขนาดกว้าง 1 ½ นิ้ว ยาว 6 เมตร ใช้ประกอบกับเหล็กทำปากกรรไกร ทั้งแบบสั้นและยาว  แต่แบบสั้นใช้มากกว่า

 

เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต

  1. ปากกาจับชิ้นงาน ชาวบ้านเรียกว่า  หัวช้าง  หรือช้างสาน
  2. สว่านมือ ชาวบ้านเรียกว่า  วิน  ใช้สำหรับต๊าฟเกลียว
  3. สว่านไฟฟ้า (พัฒนาขึ้น) ใช้สำหรับเจาะเหล็ก
  4. ตะไบ
  5. เลื่อยมือตัดเหล็ก
  6. กระดาษทรายขัดเหล็ก (หยาบ – ละเอียด)
  7. หินเจียร์แบบแท่น (พัฒนาขึ้น)
  8. หินเจียร์มือถือ (พัฒนาขึ้น) ชาวบ้านเรียกว่า ลูกหนูหรือ ลูกหมู
  9. เตาไฟ
  10. ถ่านไม้ ฟืนไม้ไผ่
  11. ปีบ (ครอบ อบ รมดำ)
  12. น้ำมันหล่อลื่นเก่าๆ (ใช้แล้ว) หรือน้ำมันไฮโดรลิคเก่าๆ (ใช้แล้ว)
  13. น้ำธรรมดา
  14. ถุงมือ
  15. แว่นตา (ป้องกันลูกไฟ)
  16. คีมจับชิ้นงาน (คีมล๊อค)
  17. คีมคีบยาวจับชิ้นงาน
  18. แลคเกอร์เงา
  19. แปรงทาแลคเกอร์
  20. ไขควง
  21. ประแจผสม
  22. ค้นเหล็กหัวกลม
  23. ฟุตเหล็กหรือเหล็กฉาก
  24. เหล็กขีด
  25. เหล็กสกัด
  26. เหล็กตอกนำศูนย์

 

ขั้นตอนและกระบวนการผลิต

            ขั้นตอนที่  1     สร้างแบบตามที่ได้ช่วยกันออกแบบไว้แล้ว เช่น ปากกรรไกร ด้ามกรรไกร  เป็นต้น

ขั้นตอนที่  2     นำแบบไปทาบกับแผ่นเหล็กแบนที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อที่จะวาดตามแบบ  ลงบนแผ่นเหล็กนั้น  ทั้งปากกรรไกร  และด้ามกรรไกร  แต่ส่วนมากนิยมทำปากกรรไกรก่อน  เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการทำกรรไกรทุกชนิด

ขั้นตอนที่  3     ทำด้ามกรรไกรตามแบบที่กล่าวไปแล้ว  โดยร่วมกับไม้เนื้อแข็งประกอบเข้าด้วยกัน  เป็นด้ามที่แข็งแรงสวยงาม  เหมาะมือ

ขั้นตอนที่  4     นำด้ามกรรไกรไปเชื่อม เพื่อให้เหล็กติดกันก่อนประกอบกับด้ามไม้ วิธีเชื่อมใช้วิธีการง่ายๆ คือ ใช้แผ่นทองเหลืองบางๆ นำมามัดด้วยลวดผูกเหล็กให้แน่นติดกับขาหรือด้ามกรรไกร  แล้วนำไปเผาไฟให้ร้อนมากๆ จนทองเหลืองละลายลงไปอยู่ในช่องว่างระหว่างเหล็ก 2 อัน  แล้วแปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นเหล็กก็จะติดกันแน่นเอง

ขั้นตอนที่  5     ตกแต่งด้ามให้สวยงาม  เรียบร้อยแล้วนำไปรมดำ

วิธีรมดำ   ทำคล้ายกับการรมดำปืน  ตามลำดับดังนี้

  1. ขุดหลุมลึกประมาณ 6 นิ้ว กว้างประมาณ 1 ฟุต  ก้นหลุมรองด้วยใบไม้สด (จะเป็นใบหญ้านาง หรือใบขี้เหล็กก็ได้) ประมาณ 5 – 6 ใบแล้วนำน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วลาดลงไปบนใบไม้พอสมควร
  2. นำชิ้นงานไปวางบนโครงเหล็กที่ทำเป็นตะแกรงสูงเหนือใบไม้ประมาณ 3 – 4 นิ้ว แล้วนำปีบมาครอบ
  3. นำฟืนไม้ไผ่แห้งๆ มาสุม (ฟืนไม้ไผ่แห้งติดไฟง่าย ให้ความร้อนสูง รวมทั้งในแถบหมู่บ้านมีไม้ไผ่มากด้วย) แล้วก่อไฟ
  4. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (โดยทิ้งให้ไฟมอดดับไปเอง)
  5. ใช้คีมคีบยาวจับชิ้นงานออกมาเพื่อนำไปจุ่มน้ำ หรือน้ำมันเครื่องเก่าๆ ก็ได้ เพื่อให้ชิ้นงานเย็น ก็เสร็จการรมดำ

ขั้นตอนที่  6     นำด้ามกรรไกรมาประกอบกับไม้เนื้อแข็งที่ทำไว้แล้ว  ตกแต่งให้สวยงามต่อไป

ขั้นตอนที่  7     นำใบมีดที่ทำเสร็จแล้วไปชุบแข็ง

วิธีการชุบแข็ง  ทำคล้ายกับการชุบแข็งไกปืน  นกปืน  ดังนี้

  1. นำใบมีดไปจุ่มน้ำมันเครื่องหล่อลื่นเก่าๆ แล้วโรยผงชุบแข็งให้ทั่วใบมีด (ผงชุบแข็งมีสีเหลืองๆ เป็นผงฝุ่นคล้ายแป้ง)
  2. นำใบมีดไปเผาไฟในเตาถ่านไม้ให้ร้อนมากๆ จนสังเกตว่าเหล็กใบมีดร้อนจนมีสีแดงส้มแล้วทั้งหมด

หมายเหตุ  เนื่องจากใบมีดหรือปากมีด  ทำมาจากเหล็กเหนียวอย่างดีเมื่อชุบแข็ง        แล้วจะทำให้ใบมีดมีความแข็งและคมมากขึ้น

  1. รีบนำใบมีดที่กำลังร้อนมากๆ ออกจากเตาโดยใช้คีมคีบยาวแล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น  โดยเร็ว  และน้ำมันหล่อลื่นที่ข้นมากๆ เช่น  น้ำมันเฟืองท้าย เกียร์  หรือไฮดรอลิกจะดีมาก  เพราะจะไม่ลุกเป็นไฟง่ายจนกระทั่งใบมีดเย็นก็เสร็จการชุบแข็ง

ขั้นตอนที่  8     นำใบมีดที่เย็นแล้วไปขัดให้สะอาดด้วยลูกผ้าปัดเงาที่มอเตอร์  เมื่อปัดแล้วใบมีดจะขาวมันเป็นเงางามและคมขึ้นด้วย (โดยทาน้ำยาขัดเงา คือไขปลาวาฬที่ลูกปัดผ้าด้วย)

ขั้นตอนที่  9     นำอุปกรณ์ที่ทำแล้วทั้งหมดไปประกอบให้เป็นกรรไกรตัดแต่งกิ่งทั้งชุด  ทั้งแบบสั้นและแบบยาว

ขั้นตอนที่  10   ตรวจสอบโดยการนำไปทดลองใช้งานจริง ปรับแต่ง ทำความสะอาด ส่งมอบงานเพื่อจำนายให้ลูกค้าต่อไป

หมายเหตุ 

กระบวนการผลิตดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. ถ้ากรรไกรแบบสั้นจะทำคนเดียวจนสำเร็จ
  2. ถ้ากรรไกรแบบยาวจะทำ 2  คน   โดยคนหนึ่งทำใบมีดอีกคนหนึ่งทำด้ามแล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน

 

 

 

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์