วัฒนธรรมประเพณี  ท้องถิ่นต่าง ๆ

วัฒนธรรมประเพณี  ท้องถิ่นต่าง ๆ

            ขนมธรรมเนียมประเพณี ของชาวบ้านในถิ่นต่าง ๆ ของจังหวัดอุทัยธานี บางแห่งมีความ คล้ายคลึงกัน บางแห่งอาจมีความแตกต่างกันไปบ้างตามความเชื่อของ เชื้อชาติ และชุมชนนั้นๆ

 

ชุมชนชาวอำเภอบ้านไร่

อำเภอบ้านไร่เป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกล  การเดินทางยากลำบากมาก ผ่านป่า เขา  ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้าย และมีไข้ป่าชุกชุมต้องใช้ม้าหรือช้างเป็นพาหนะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นชาวมอญ กระเหรี่ยง และลาวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ประเพณี ความเชื่อและการ ดำเนินชีวิต ของคนในบริเวณนี้จึงแตกต่างกันไป  ซึ่งก็จะเกี่ยวเนื่อง กับการทำมาหากินเป็นส่วนใหญ่

ประเพณียิงสัตว์

ผู้ที่จะเข้าไปล่าสัตว์ หรือยิงสัตว์  จะต้องถอดเสื้อผ้าให้หมด  ถือมีดคลานไปที่ดินโป่ง หรือต้นมะขามป้อม  กลั้นใจเอามีดปักที่ดินโป่งหรือต้นมะขามป้อม   แล้วคลานกลับมา ที่ขัดห้างไว้บนต้นไม้  เมื่อสัตว์เข้ามาให้อยู่นิ่งๆ เพราะสัตว์มีสายตาที่ดีมาก เมื่อมันก้มลงกินอาหาร ครั้งหนึ่ง  เราจึงขยับปืนได้ครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้จนกว่าจะเล็งปืนได้ที่ และยิงได้

ประเพณีรักษาคนไข้

การรักษาคนไข้ มีหมอชาวบ้านเป็นผู้รักษา เรียกว่าหมอเทวดา  ใช้มนต์คาถาเป่า ทำพิธีไล่ผี รดน้ำมนต์ ยิงปืนขึ้นฟ้า เป็นการรักษาทางไสยศาสตร์

ประเพณีสงกรานต์

มีการทำบุญทำทานเหมือนกับที่อื่นๆ  ต่างกันที่การละเล่น  ชาวบ้านไร่เล่นกัน ไม่ถือตัว เล่นกันจริงจัง  ถ้าผู้ชายถูกผู้หญิงจับได้ ฝ่ายหญิงจะเอาไปผูกไว้กับต้นไม้ เอามดแดงใหญ่มาปล่อย  เอาน้ำโคลน  น้ำล้างชามมาราด  บางครั้งก็เอาดินหม้อ มาป้ายกันเป็นที่ สนุกสนาน

ประเพณีเว้าสาว – ขึ้นสู่

เมื่อเริ่มพลบค่ำ หนุ่มทั้งหลายจึงจะออกไปเว้าสาวได้ เมื่อไปถึงบ้านสาว  พ่อแม่จะหลีกทาง ให้หนุ่มสาวคุยกัน  จนกระทั่งดึก สาวจะถามว่าจะกลับหรือจะนอน  ถ้ากลับก็ให้กลับได้  ถ้านอนบ้านสาวก็จะเป็นการขึ้นสู่  ตอนเช้าพ่อแม่ก็จะจับตัวไว้  แล้วให้ผูกแขนกินดองกัน(แต่งงาน)

ประเพณีการอาบน้ำของสาวกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงสาวอาบน้ำจะไม่นุ่งผ้า เพราะผ้าที่ใช้นุ่งนั้นจะทอเอง  หนามากเปียกน้ำแล้วแห้งยาก (ไม่มีผ้าเปลี่ยน ) จะทำให้ผ้าผุง่ายเวลาอาบน้ำจะแก้ผ้าเอามือปิด ส่วนบนเท่านั้น ส่วนข้างล่างเขาไม่อายสาเหตุที่ไม่อายเพราะว่ามีคนเห็นของเขามาตั้งแต่เกิด  ส่วนข้างบนเกิดมาทีหลังเขาจึงอาย

ประเพณีปิดบ้านสะนำ อำเภอบ้านไร่

ประเพณีจะจัดขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี ส่วนใหญ่ประมาณเดือน    พฤษภาคม ส่วนกำหนด วันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับ จ่า ของหมู่บ้าน (คล้ายหมอผีประจำหมู่บ้าน เป็นผู้อาวุโส มักเป็นชาย มากกว่าหญิง) เป็นผู้กำหนดวัน ประเพณีปิดบ้าน จะกำหนด 3 วัน 3 คืน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ

ตอนเช้าจะมีการเลี้ยงเจ้าประจำหมู่บ้าน โดย  จ่า หรือ  จ้ำ จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ของที่ใช้ในการบูชา ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวต้มมัด หมู ไก่ เหล้า พร้อมเครื่องเซ่น อื่น ๆ เช่น ข้าวสาร เมื่อไปถึงบริเวณพิธี จ่าจะให้เริ่มพิธีโดยมีการรำบวงสรวงไปรอบ ๆ ศาลประจำหมู่บ้าน จ่าจะหยิบข้าวสารวางไว้บนไข่ดิบ จำนวน 7 เมล็ด ถ้าหากยังวางไม่ครบคนรำ ก็จะต้องรำต่อไป ครบแล้วก็จะยิงปืน หรือจุดประทัด เพื่อแสดงว่าเสร็จพิธี

ข้อปฏิบัติในขณะที่ประกอบพิธีนี้   คือ  ห้ามคนนอกหมู่บ้านเข้าในหมู่บ้าน และห้ามคน ในหมู่บ้านออกนอกหมู่บ้านตลอดเวลา 3 วัน 3 คืน  ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา แต่หากมีคนนอกหมู่บ้านประสงค์ที่จะเข้ามา ในหมู่บ้านจริงๆ  ต้องใช้สุราเป็นเครื่องแลก เปลี่ยน ให้กับเจ้าบ้าน เวลากลางคืนจะมีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานของชาวบ้าน เช่นการเล่น มอญซ่อนผ้า การเล่นเตย การเล่นงูกินหาง

นอกจากนั้นการเล่นเข้าทรงต่างๆ   เช่นการเล่นผีนางอั่ว   ผีนางด้ง   ผีนางแขก เป็นต้น ซึ่งการเข้าทรงนี้ต้องเล่นเฉพาะประเพณี ปิดบ้านเวลากลางคืนเท่านั้น มิฉะนั้นผีจะไม่ยอม ออกจากร่างทรง  ทำให้เกิดอันตราย

การเข้าทรงผีแขก

หญิงสาวที่มีขวัญอ่อน ให้ถือกรวยดอกไม้ ใช้ผ้าขาวม้าปิดตา นำไปในที่มืด ๆ ผู้ที่ร่วมการเข้าทรงก็จะล้อมเป็นวงอยู่กลางลานบ้าน ช่วยกันร้อง มีคำร้องดังนี้ “เชิญ ก็เชิญ แม่อ้าฉันจะปูผ้าให้ผัวเจ้านอน”  ร้องซ้ำ ๆเช่นนี้จน ผู้เข้าทรงนิ่ง  มือเย็นและตัวอ่อนระทวย ผู้ช่วยจะ จูงไปกลางวง  แล้วชาวบ้านก็จะร้องรำทำเพลง ให้ผู้เข้าทรงรำกันอย่างสนุกสนาน   เมื่อผีจะออก ส่วนใหญ่ร่างทรงจะล้มลง  จึงต้องมีผู้ช่วยคอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ ระวังมิให้ล้มกระแทกพื้น

ผีนางแคน

ก็มีวิธีการคล้ายกัน แต่เวลารำวงต้องเป่าแคน  คนทรงจึงจะยอมรำวง

ผีนางด้ง

ใช้ผ้าปิดตา 1 ผืน  ผ้าผูกเอวอีก 1 ผืน (ช่วยดึง เพราะผีนางด้ง จะดุมาก) การเข้าทรง คล้ายกัน   อุปกรณ์ใช้กระด้ง 2 อัน   คนเข้าทรง  2  คนหันหน้าเข้าหากัน โดยใช้กระด้ง เป็นเครื่องกั้น เอาผ้าคลุมทั้ง   2   คนไว้  เนื้อร้องเพลงนางด้ง “นางด้งเอ๊ย  เข้าป่าละโห้ง กระทงไม้หมาก กระดาก ไม้แดง  ตะแคงแมงเม่า  กระด้งปิดเข่า ปิดตามัว ๆ  มันมาพาย ๆ  มาขุดกระทรายสาดหน้า นางด้ง”   ร้องไปจนกว่าผีนางด้งจะเข้าสิง ลักษณะเหมือนกับผีอื่น ๆ เสร็จแล้วนางด้งจะรำเซิ้ง คนที่เป็น ผู้ช่วยจะ คอยควบคุมโดยการดึงผ้าที่ผูกเอว   เมื่อผีออกจะมีอาการเหมือนกัน  และผู้ช่วยต้องเรียกชื่อร่างทรง ด้วยเพื่อให้เขารู้สึกตัว

การเข้าทรงลิงลม

ต้องใช้ผ้าคอยดึงเอาไว้ เมื่อผีเข้าจะเร็วมาก คำร้องจะร้องว่า “ลิงลมเอ๋ย อมข้าวพอง เด็กทั้งสอง มาทัดดอกจิก พระยานกเขา อุ้มลูกอุ้มเต้า  มาเข้าสิงลิงลม” เมื่อจะให้ผีออก ก็ร้อง “ตกกะโต๊ก” หรือตบหลัง

การเข้าทรงผีเหล่านี้ เพื่อเป็นการทำนายทายทักในสิ่งที่ ชาวบ้านอยากทราบ เช่นเรื่อง คู่ครองของบรรดาสาว ๆ หรืออาจจะถามเรื่องโชคลาภก็ได้ หรือ ทำนายเรื่องฝนฟ้าจะตกต้อง ตามฤดูกาลหรือไม่  การทำมาหากินเป็นอย่างไร คนในหมู่บ้านจะเจ็บป่วยหรือมีความสุขสบาย อย่างไร

ประเพณีของกระเหรี่ยงเผ่าโบบ้านเจ้าวัด  ตำบลแก่นมะกรูด

กระเหรี่ยงบ้านเจ้าวัด ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ นับถือศาสนาพุทธ  ที่ยังคงรักษา วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ อย่างเคร่งครัด ข้อห้ามของคนในหมู่บ้านที่ต้องยึดถือ คือห้ามชาวบ้าน ดื่มสุรา ห้ามสูบฝิ่น สูบกัญชา ยาเสพติด  ห้ามเล่นการพนัน นอกจากจะห้ามเสพแล้ว ยังห้ามนำสิ่งที่ เป็นอบายมุขเข้าในหมู่บ้านด้วย สิ่งเดียวที่ชาวบ้านเสพได้ คือ ยาเส้นที่ชาวบ้าน ปลูกกันเองนอกจากนั้นในหมู่บ้านยังห้ามเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเลี้ยงไว้ใช้งานหรือ เลี้ยงไว้เป็นอาหาร ชาวบ้านจะ กินเนื้อสัตว์ เฉพาะที่ออกล่ากันเองเท่านั้น   การออกล่าสัตว์ป่าแต่ละครั้ง ต้องทำเซ่นไหว้ ขอจาก เจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา  เมื่อได้สัตว์มาก็จะแบ่งปันกันทั้งหมู่บ้าน ไม่มีการซื้อขาย  บ้านที่อยู่อาศัย ทั่วไปปลูกด้วยไม้ไผ่  มุงหลังคาด้วยตับหญ้าคา

ด้านการแต่งกาย

เมื่ออยู่ในหมู่บ้านผู้ชายจะนุ่งกางเกงไม่ได้ ต้องนุ่งโสร่ง ใส่เสื้อแขนยาว และมีผ้าโพกหัว เป็นสีขาวทั้งหมด  แต่ถ้าออกนอกหมู่บ้าน นุ่งกางเกงได้  ผู้ชายที่ต้องสืบทอดเป็นเจ้าวัด คนต่อไป จะต้องไว้ผมยาวเกล้าผมมวย   สำหรับ ผู้หญิงจะมีชุดพื้นบ้านซึ่งมีแบบ และลวดลาย เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ คือถ้าเป็นเด็กหญิง พรหมจารี ที่ยังไม่มีรอบเดือนจะใส่ชุดขาวล้วน เป็นเสื้อตัวยาวเหมือน กระโปรง ถ้าเป็นเด็กสาว ที่มีรอบเดือนแล้ว ก็ใส่ชุดยาวสีขาวเช่นกัน แต่มีลาย  สีแดงบริเวณคอ และหน้าอกมีเข็มขัด คาดเพื่อให้ดูเรียบร้อย รัดกุมขึ้น ส่วนผู้หญิง ที่แต่งงานแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็น นุ่งผ้าซิ่นและ เสื้อตัวคนละตัว ลายผ้าซิ่น และเสื้อของหญิงที่ แต่งงานแล้วยัง เป็นเครื่องบ่งบอก ถึงวัยของผู้ สวมใส่ด้วย สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นที่เข้าใจกัน ในชุมชน

ที่มาของเจ้าวัด

เจ้าวัด คือ ผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่มีหน้าที่ทำพิธีกรรมต่าง ๆ ผู้ที่จะสืบทอด เป็นเจ้าวัด ต้องเป็นชายในตระกูลที่มีอายุมากกว่าคนอื่น

เจ้าวัดจะต้องเป็นผู้นำชาวบ้านทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี เช่น การไหว้เจดีย์ ในหมู่บ้านซึ่งเชื่อว่า เมื่อทำพิธีไหว้เจดีย์แล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล     การทำมาหากิน ได้ดีและอยู่เย็นเป็นสุข

ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างเจดีย์โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นชั้นลดหลั่นกัน เป็นรูปเจดีย์ แต่ละชั้น สูงประมาณ 1 ศอก ภายในใส่หินและทราย ยอดเจดีย์จะมีไม้ไผ่สานคล้ายฉัตร   ปักไว้ การทำเจดีย์นี้ จะทำทุกปี   เมื่อสร้างเจดีย์เสร็จแล้ว ก็จะกำหนดวันพระขึ้น 15  ค่ำเป็นวันไหว้เจดีย์  ชาวบ้านเจ้าวัด และหมู่บ้านใกล้เคียง จะมาร่วมกันทำบุญเป็นเวลา   3  วัน มีการฉลองกันทั้งกลางวัน และกลางคืน เมื่อทำบุญแล้วก็มีการละเล่น เช่น  สะบ้ามอญ แข่งเดินขาหย่าง แข่งตำข้าวตำข้าวเหนียว โดยจะต้องตำ ให้อ่อนนุ่ม  ปั้นเป็นก้อนกลมแล้วนำไปทอดจิ้มน้ำตาล เป็นขนม  กลางคืนจะมีการรำ รอบเจดีย์ 3  รอบ ทุกคืน แล้วมีการแสดงละคร  การรำตง เป็นการรำของกระเหรี่ยงที่มีผู้รำตั้งแต่  20  คนขึ้นไปแต่งตัวชุดพื้นบ้าน มีการเคาะไม้ ตีกลอง ร้องเพลง ลักษณะการรำคล้ายรำไทย แต่ไม่อ่อนช้อยเพลงที่นำ มาใช้ร้องรำมีลักษณะเป็นบทกลอนร้องโต้ตอบกัน

ประเพณีแต่งงาน

ประเพณีกระเหรี่ยงจะให้มีการย่องสาวก่อน   คือเมื่อหนุ่มพอใจสาวคนใด ในเวลากลางคืน หนุ่มจะขึ้นไปหาสาวบนเรือน  ถ้าสาวพอใจก็จะยอมให้หนุ่มอยู่ด้วยโดยไม่จุดไฟ  แต่ถ้าสาวไม่พอใจ หนุ่มก็จะร้องเรียกพ่อแม่ และจุดไฟ  หนุ่มก็ต้องลงจากเรือนไป ส่วนในกรณี ที่สาวพอใจ หนุ่มก็จะ ย่องไปหาได้ถึง  3 ครั้ง  พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะจับตัวให้แต่งงานถือเป็นการผิดผี เมื่อตกลงแต่งงานผู้นำ ในหมู่บ้านจะมากำหนดนัดหมายวันเวลากัน   ฝ่ายชายจะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งเครื่องใช้ ในครัวเรือน เมื่อแต่งแล้วฝ่ายชายต้องไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง

 

 

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้   หมู่บ้านทัพหลวง ทัพคล้าย

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านร่วมใจกันนำพุ่มดอกไม้ ไปถวายพระและ ฟังเทศน์ฟังธรรม จัดมีขึ้น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ในระหว่างวันสงกรานต์ หนุ่มสาวจะพากันเข้าไปหาดอกไม้ในป่า  แล้วนำมา ตกแต่งกับกิ่งไม้ ส่วนใหญ่คือ กิ่งไผ่ที่ผ่าเป็น 4 ซีก สามารถแยกเป็นสี่ขาตั้งได้มั่นคง เมื่อตกแต่งต้น ดอกไม้ได้สวยงามพอใจแล้ว ก็ทำไม้คานหาม แห่กันไปวัด ผู้ร่วมขบวนแห่ก็จะถือดอกไม้ ติดมือไปด้วย เมื่อแห่ไปตามทางผ่านบ้านชาวบ้าน แต่ละบ้านก็จะนำน้ำมาตั้งไว้ให้ผู้ที่ถือดอกไม้ มานำดอกไม้มาจุ่มน้ำพรม ต้นพุ่มดอกไม้เป็นการร่วมบุญกุศลในการถวายต้นดอกไม้ด้วย ข้อนี้ก็คือ อุบายทำให้ดอกไม้ไม่เหี่ยวเฉานั่นเอง

เมื่อหนุ่มสาวแห่ต้นดอกไม้ไปวัดแล้ว ก็จะนำไปตั้งไว้บนศาลาก่อนยังไม่ทำพิธี ถวาย ทุกคนจะกลับบ้านอาบน้ำอาบท่ารับประทานอาหารเย็นแล้ว จึงกลับมาวัดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพร้อมกัน แล้วก็จะแห่ต้นดอกไม้นั้นรอบศาลา 3 รอบ พอครบรอบที่ 3 ก็จะมีการเล่นมวยลาย ซึ่งเป็น ศิลปการต่อสู้แบบโบราณ หลังจากนั้นก็นำต้นดอกไม้ไปถวายพระ ร่วมฟังเทศน์ฟังธรรมกันแล้วจึง แยกย้ายกลับบ้าน

ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างเข้าพรรษา 3 เดือน ทุกวันพระ 15 ค่ำ ชาวบ้านก็จะพากัน เข้าป่าหาดอกไม้  สมัยก่อนต้องออกไปหาดอกไม้ป่าเพราะดอกไม้ตามบ้านไม่มี แต่ปัจจุบันไม่ต้อง ไปเที่ยวหาดอกไม้ในป่าอย่างแต่ก่อนแล้ว การทำต้นดอกไม้ในฤดูเข้าพรรษานี้ใช้ต้นกล้วยเป็นต้นพุ่ม ชาวบ้านมักทำกันตอนบ่าย ๆ  พอตกเย็นก็อาบน้ำรับประทานอาหาร แล้วจึงแห่ต้นดอกไม้ไปวัด เมื่อไปถึงวัดก็มีการแห่รอบศาลา 3 รอบและเล่นมวยลาย เสร็จแล้วจึงถวายต้นดอกไม้ร่วมฟังเทศน์ ฟังธรรมเช่นเดียวกับระยะสงกรานต์ การจัดทำต้นดอกไม้ร่วมฟังเทศน์ฟังธรรมเช่นเดียวกับ ระยะสงกรานต์ การจัดทำต้นดอกไม้ถวายพระนี้ นับเป็นการแสดงการบูชาพระอย่างหนึ่ง มีลักษณะคล้ายเวียนเทียน แต่ประเพณีชาวบ้านนี้เป็นการเวียนดอกไม้ ไม่ต้องใช้ธูปเทียน

ปัจจุบันนี้หมู่บ้านทัพหลวงยังคงรักษาประเพณีแห่ต้นดอกไม้สด เช่นนี้อยู่ส่วนหมู่ บ้านทัพคล้ายได้มีการประยุกต์จัดตกแต่งเป็นดอกไม้แห้งประกวดกันเป็นกลุ่ม ๆ

ประเพณีปิดบ้าน – เลี้ยงเจ้าบ้าน  ของชาวบ้านไร่ที่มีเชื้อสายลาว

ได้แก่หมู่บ้าน  ดังต่อไปนี้ บ้านไร่, บ้านบึง, ทัพหลวง, ทัพคล้าย, สะนำ, เจ้าวัด, ทองหลาง, ห้วยแห้ง

ประเพณีปิดบ้าน – เลี้ยงเจ้าบ้านของชาวอำเภอบ้านไร่ที่มีเชื้อสายลาว  ซึ่งมีเป็นประเพณี ที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การขอขมาและเลี้ยงเจ้าบ้านซึ่งเป็นผี บรรพบุรุษ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านในการดำเนินชีวิต เชื่อว่าเมื่อได้ทำพิธีแล้ว จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง

เจ้าบ้าน คือ บรรพบุรุษผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นที่เคารพนับถือ ของคน ในหมู่บ้านนั้น วิญญาณบรรพบุรุษนี้จะได้รับการเซ่นไหว้เชื้อเชิญ จากตัวแทนของชาวบ้านให้มา เป็นเจ้าประจำหมู่บ้าน คอยปกปักรักษาคุ้มครองคนในหมู่บ้าน จ่าและจ้ำจะเป็นตัวแทนของชาวบ้าน

จ่า มีหน้าที่  ป่าวประกาศนัดหมายบอกชาวบ้าน เมื่อจะทำพิธีกรรมต่าง ๆ

จ้ำ มีหน้าที่  ทำพิธีสามารถติดต่อกับผีเจ้าบ้านได้

ในท้องที่อำเภอบ้านไร่ มีประเพณีปิดบ้านอยู่หลายหมู่บ้าน ในระหว่างเดือน 6   แต่ละหมู่บ้านจะกำหนดไม่ให้ตรงกัน

พิธีปิดบ้าน จะจัดกันเป็นเวลา  2   คืน  1  วัน   เมื่อกำหนดวันและ จ่า ได้ประกาศ บอกชาวบ้านแล้ว   เริ่มปิดบ้านในตอนเย็น ทุกบ้านจะต้องเตรียมกรวยดอกไม้ไว้บ้านละ 1 กรวย  ทุกคน จะไปรวมกันที่ศาลเจ้าบ้าน   จ้ำจะทำพิธีขอขมาลาโทษและขอความเป็นสิริมงคลจากเจ้าบ้าน เมื่อเสร็จ พิธีขอขมา   ทั้งหมดก็จะไปรวมกันที่ลานในหมู่บ้านร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ยังมี การเชิญวิญญาณมาร่วมสนุกสนานด้วย   วิญญาณที่เชิญมาได้แก่ นางแคน นางด้ง นางกวัก ผีกะลา นางมดแดง นางช้าง ลิงลม

ก่อนจะเริ่มพิธีปิดบ้านนั้นต้องนำ ตะเหลว หรือ เฉลว เป็นไม้ไผ่ที่สานขัดกัน เหมือนตาชะลอม   แต่ทำอันใหญ่ไปปักไว้ทางเข้าหมู่บ้านเพื่อบอกให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ เมื่อปิดบ้านจะ ห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า คนนอกหมู่บ้านหากจะไปร่วมสนุกต้องเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน ก่อนเริ่มทำพิธีปิดบ้าน   คนในหมู่บ้านก่อนถึงวันปิดบ้านจะต้องเตรียมตักน้ำผ่าฟืนหาของกินมา ไว้ให้พร้อม เพราะเมื่อปิดบ้านแล้วจะไม่ทำงานใดๆนอกจากทำอาหารกินและสนุกสนานรื่นเริง

คืนแรกที่ปิดบ้าน มีการละเล่นไม่มากนัก  เพราะทุกบ้านจะต้องเตรียมอาหาร เครื่องเซ่นไหว้ เจ้าบ้านในตอนเช้า  ประกอบด้วย หมู ไก่ เหล้า   หลังจากเลี้ยงเจ้าบ้านแล้ว ก็จะนำอาหารมารับประทาน ร่วมกันและเล่นอย่างสนุกสนานที่ลานบ้าน เช่น ลูกช่วง ชักเย่อ ไม้อี่ มอญซ่อนผ้า รำวงกันอยู่ ตลอดวัน กลางคืนก็จะเชิญวิญญาณมาเล่นด้วยกันเหมือนคืนแรก ในคืนที่สองนี้จะเล่นกันไป จนถึงสว่าง แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านเป็นเสร็จพิธีปิดบ้าน เลี้ยงเจ้าบ้าน

การปิดบ้านเลี้ยงเจ้าบ้านเป็นอุบายที่จะสร้างความรัก ความสามัคคีกัน ในหมู่บ้าน ก่อนที่จะเริ่มทำงานกันอย่างจริงจัง มาร่วมกันสร้างขวัญ กำลังใจ โดยใช้พิธีกรรมเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยวจิตใจ   การร่วมสนุกสนานเพื่อสร้างความผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน เมื่อต้องออกไปทำงาน เหน็ดเหนื่อยลำบาก ก็จะเห็นใจช่วยเหลือกัน   ส่วนอุบายที่ห้ามคนในหมู่บ้านออกนอกหมู่บ้าน ก็เป็นการป้องกันอันตรายต่าง ๆ เพราะเมื่อมีการดื่มสุรากันเต็มที่ หากเมาแล้วเที่ยวไปก็อาจเป็น อันตรายเดือดร้อน แต่ถ้าเมาแล้วอยู่ในหมู่บ้านก็ยังมีคนช่วยดูแล หรือหากมีเรื่องกันก็ยังพอมีคน ห้ามปรามไกลเกลี่ยได้

 

ประเพณีของชาวบ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน

หมู่บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน  มีตำนานเล่าว่าผู้เฒ่าหล้า เชื้อสายลาวครั่ง อพยพมาจากหลวงพระบาง ประมาณ  20 ครัวเรือน พื้นที่บ้านโคกหม้อ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะทำการเกษตร อยู่ใกล้แควตากแดด   จึงได้ช่วยกันถางป่าทำที่อยู่อาศัย เมื่อขุดปรับมูลดิน ได้พบหม้อดินเผาเป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า “บ้านโคกหม้อ”

บ้านโคกหม้อมีประเพณี ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันมากมาย  เช่น

ประเพณีนางด้ง

จะมีการเชิญผู้หญิงคนสาวหรือคนเฒ่าคนแก่ได้ทั้งนั้น มีกระด้ง 1 อัน มีสาก 2 อัน วาง 2 ข้างกระด้งมีคนถือ 2 คน อีก 4 คนอยู่ข้างละ 2 เป็นคนเชิญผีนางด้ง เมื่อผีนางด้งเข้า คนข้างนอกจะถามว่า โชคชะตาของหมู่บ้านนี้ ฝนฟ้าจะดีไหม? ถ้าคนถือกระด้งชูขึ้น แสงว่าฝนฟ้าจะดี ผู้คนในหมู่บ้าน จะไม่เจ็บป่วย ใครจะถามอะไรก็ถามได้ ถ้าหมดคนถามก็เลิกกัน

ประเพณีนางกวัก

มีไม้คานแม่หม้าย 1 อัน ทำเป็นแขนมัดติดกับกวัก กวักคืออาการที่คนถือกวักไว้ มีพี่เลี้ยง 2 คน คนเชิญอีก 4 คน เป็นลักษณะหมอดู ถ้าคนถามอะไร เช่น มีโชคลาภไหม จะใช้ไม้คานแทน มือเขียนบอกตามที่ผู้ถาม

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้

เรื่องนี้ไม่เหมือนกับที่วัดทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ แต่รู้สึกว่าจะคล้าย ๆ กัน ในเวลา สงกรานต์ทุกวันจนสงกรานต์เลิก คนที่แห่คือคนชาวบ้านทั้งพระทั้งคน เวลา 16.00 น. จะแห่มาที่วัด และมาถวายดอกไม้ทำเป็นประจำทุกปี ในเวลาสงกรานต์ และในวันที่ 13 เมษายนทุกปี ทุกคนจะมา รวมกันที่วัด มาอาบน้ำขอพรผู้สูงอายุทุกปี

เมื่อเลิกสงกรานต์วันสุดท้าย จะมีการปักธง ธงนั้นเป็นผืนใหญ่ เพื่อแสดงว่า เรามีชัยชนะ ในการที่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดปี

ประเพณีการทำบุญกลางบ้าน

พอถึงเดือนหกขึ้น 6 ค่ำ จะมีการทำบุญกลางบ้าน เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญทำตอนเช้าและฟังเทศน์

ประเพณีเลี้ยงผี

พอขึ้นเดือนเจ็ดขึ้น 7 ค่ำ จะมีการทำอาหารคาวหวานเลี้ยงศาลเจ้าปู่ ตา (เลี้ยงผี) ที่ชาวโคกหม้อเคารพนับถือ เรียกว่า เส้นผีอย่างเดียวในตอนเช้า

ประเพณีเจ้าสาว

สมัยก่อนจะมีหนุ่มเข้าไปเที่ยวสาวเข็นฝ้าย ซ้อมข้าวก็มีจะมีหนุ่มสาว ฝ่ายละหลายคน นัดไปรวมกันบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นประจำทุกคืนแล้วจะคุยกันบ้าง ร้องรำทำเพลง กันบ้างมีแคนเป่า เป็นเพลงฟัง กันเพลิน ๆ

ประเพณีการแต่งงาน

ประเพณีการแต่งงานมี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งแต่งแบบลาวเพราะหมู่บ้าน โคกหม้อนี้ มีเชื้อสายลาวประมาณ 90% นอกนั้นเป็นคนไทย แต่งงานอีกแบบหนึ่งก็คือแต่งแบบไทย    การแต่ง แบบลาวจะมีการแห่ขวัญ ซึ่งทำเป็นบายศรีของเจ้าบ่าวแห่มาบ้านเจ้าสาว และที่บ้านเจ้าสาวก็จะ จัดบายศรี ไว้ทำขวัญเช่นเดียวกัน เมื่อคณะเจ้าบ่าวขึ้นมาบนบ้านเจ้าสาวแล้ว ผู้เฒ่าที่เป็นหมอทำขวัญก็ จะเป็นผู้นำทำพิธีต่าง ๆ และกล่าวสอนผู้บ่าวผู้สาว เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการกินอาหาร ซึ่งจะมีแม่ครัวทำไว้ให้ หรือใครจะทำกินเอง ก็มีอาหารสดจัดเตรียมไว้ให้ เช่น เนื้อ หมู เป็ด ไก่    และผักต่าง ๆ ใครจะอยู่กินตลอดวัน หรือจะนอนค้างคืนแล้วรุ่งเช้ากินต่ออีกก็ได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เหล้า  การแต่งแบบนี้เรียกว่า กินดอง

สำหรับการแต่งงานของชาวบ้านโคกหม้อนี้คล้ายกันกับชาวลาว บ้านทัพคล้าย ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่มาก ต่างกันที่การแห่เจ้าบ่าว ที่บ้านโคกหม้อจะแห่ขวัญ (บายศรี) เดินเป็นขบวน ไม่มีคันหามเจ้าบ่าวมายังบ้านเจ้าสาวเหมือนบ้านทัพคล้าย แล้วทำพิธีเช่นเดียวกัน ทางบ้านเจ้าสาวก็จะ ล้มวัว หมู ฯลฯ ไว้ให้ทำกินกัน

หมู่บ้านโคกหม้อแต่งงานอีกแบบหนึ่งคือ แต่งแบบไทย ใช้พระสงฆ์สวด ทำพิธี มีรดน้ำสังข์ ผูกแขน มีการทำบุญตักบาตร ให้พร ยกขันหมาก สู่ขวัญ สั่งสอนเจ้าบ่าว เจ้าสาว ฯลฯ

 

ประเพณีบูชาเจดีย์ อำเภอห้วยคต

ประเพณีบูชาเจดีย์นี้  เป็นประเพณี  การไหว้บูชาภูตผีปีศาจ  ของชาวกระเหรี่ยง มีประเพณี คล้ายกับการไหว้เจดีย์ของชาวบ้านไร่   อาจจะแตกต่างกันไปในรายละเอียดของพิธีกรรม บ้าง

ประเพณีนี้จะจัดทั้งหมดสามวันสามคืน ในเดือนห้า ของทุกปี ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ ถึงแรม 2 ค่ำ

ในเวลากลางคืน จะมีการเดินรอบเจดีย์ 3 รอบโดยเจ้าวัด (ผู้นำในการ ประกอบพิธี) ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง จะเดินถือเทียนนำหน้า ลักษณะคล้ายการเวียนเทียนของคนไทย เมื่อครบสามรอบ ก็จะนั่งลงกราบเจดีย์โดยทุกคนต้องมีเทียนกับดอกไม้เป็นของตนเอง ในการ ประกอบพิธีนี้ ซึ่งทุกคนจะกราบสามครั้งแล้วนำเทียนไปตั้งที่ไว้เจดีย์ พร้อมทั้งกราบอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้น เจ้าวัดจะเป็นผู้นำในการรำ (เป็นการรำอยู่กับที่) โดยมีกลองประกอบจังหวะ ซึ่งจะแบ่งผู้รำ ออกเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายชายจะอยู่ทางด้านซ้ายของเจดีย์ ฝ่ายหญิงจะอยู่ทางขวา และเจ้าวัดจะอยู่ตรงกลาง ทั้งหมดจะรำไปเรื่อย ๆ โดยจังหวะนั้นจะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อกันว่าภูตผีปีศาจจะเข้ามาสิงอยู่ใน ผู้ร่วมพิธีนั้น มาร่วมรำด้วยความสนุกสนาน จะรำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดแรงและล้มลงในที่สุด เชื่อกันว่าเมื่อล้มลง ปีศาจก็จะออกจากร่าง แต่ถ้ารำไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานมาจนเหนื่อยอ่อน ก็ไม่มีใครล้มลงหรือยอมหยุด เชื่อกันว่า ปีศาจไม่ยอมออก เจ้าวัดจะต้องจุดเทียนขอให้ภูตผีปีศาจ ออกไป

เวลากลางวัน ตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายให้กับเจ้าวัด ในลักษณะ เหมือนกับ การถวายข้าวกับพระสงฆ์

พิธีนี้จะทำไปเรื่อย ๆ เหมือนกันทุกวันทั้งสามวันสามคืน โดยวันสุดท้าย ประมาณ 10.00 น. – 11.00 น. จะมีการกรวดน้ำให้กับภูตผีปีศาจด้วย

ประเพณีปิดบ้านโป่งข่อย อำเภอห้วยคต

ประเพณีปิดบ้านของชาวโป่งข่อย  จากคำบอกเล่าของ นายเริง  แจ้งถิ่นป่า และ นายจอมพล  พรรณเริง  มีความเชื่อเช่นเดียวกับ ชาวบ้านไร่  “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” ซึ่งหมายความว่า คนในหมู่บ้านห้ามออกไปต่างหมู่บ้าน และคนนอกหมู่บ้านก็ห้ามเข้ามาในหมู่บ้าน   ลักษณะการทำพิธี เช่นเดียวกับ การปิดบ้านอำเภอบ้านไร่

 

ชุมชนมอญ บ้านเก่า หินโจน อำเภอหนองฉาง

จากการศึกษาค้นคว้าของ สุภรณ์  โอเจริญ อธิบายชุมชนมอญในจังหวัด อุทัยธานีไว้ดังนี้ “ในอดีต ชาวมอญเคยตั้งอาณาจักรของตนขึ้นในบริเวณที่เป็นพม่าตอนล่างปัจจุบัน แต่ถูกพม่าปราบ และได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนกระทั่งถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ไม่มีโอกาสฟื้นตัว ตั้งอาณาจักรได้อีกเลย มอญไม่พอใจความเป็นอยู่ของตน เพราะถูกพม่ากดขี่เบียดเบียน ชาวมอญ ส่วนใหญ่ จึงอพยพเข้ามาสู่ภาคกลางของไทยในฐานะผู้ลี้ภัย และมาด้วยความสมัครใจมากกว่า ที่จะมาในลักษณะของการถูกกวาดต้อนเป็นเชลย”

ชาวมอญอพยพหลบหนีพม่าเข้ามาในเมืองไทยทางด้านเจดีย์สามองค์เมือง กาญจนบุรีบ้าง และทางด่านสลักพระ เมืองอู่ไทบ้าง (คือ เมืองอุทัยเก่า) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน ชั้นนอกที่บ้านคลองค่าย มีเจ้าเมืองชื่อพะตะเบิด มีภาระกิจคือ ป้องกันด่านและสืบราชการลับ ทางเมืองมอญ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ. 2358 มอญอพยพ เข้ามา ทางเมืองอุทัยอีก ส่วนหนึ่งเลือกเข้าพักพิงร่วมกับกลุ่มชาวมอญที่อพยพมาอยู่ก่อน โดยกระจาย ไปรอบ ๆ เมืองอุทัยเก่า ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา

หมู่บ้านที่ชาวมอญตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นในเขตรอบ ๆ เมืองอุทัยเก่า ในปัจจุบันยังมีอยู่ ประมาณ  15  หมู่บ้านและขยายออกไปในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยไปแต่งงานกับชาวไทย ในหมู่บ้าน  เช่น บ้านห้วยรอบ บ้านดอนกลอย บ้านหนองข่า บ้านเนินสาธารณ์ บ้านร่มฟัก ทำให้ประเพณีของชาวมอญ ขยายออกไปในหมู่บ้านเหล่านี้ด้วยระยะแรกทางราชการให้ชาวมอญ ปกครองกันเองในระดับหมู่บ้าน โดยตั้งผู้นำชาวมอญที่ได้รับความยอมรับนับถือเป็นหัวหน้า ปกครองดูแลกันเองซึ่งสามารถ ทำความเข้าใจกันได้ง่ายกว่า ทางราชการมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้อง ก็ประสานงานกับหัวหน้า

วิถีชีวิต ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวมอญ  เป็นเพียงการบอกเล่า และปฏิบัติสืบต่อกันมา  ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ตาชุ่ม  สังศิริ อายุ 87 ปี ชาวบ้านเก่า เล่าว่าความเป็นอยู่ของชาวมอญเมืองอุทัย  ชาวมอญจะตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม ไม่ปะปนกับคนไทย แต่ละหมู่บ้าน จะมีวัด ประจำหมู่บ้านของตนเอง  เช่น วัดใหญ่ วัดป่าช้า วัดทุ่งทอง  ที่อยู่อาศัยปลูกสร้างด้วยไม้ หลังคามุง ด้วยหญ้าแฝกหรือ หญ้าคา คล้ายกับบ้านคนไทยในสมัยนั้น มีใต้ถุนสูงโปร่งใช้เป็นที่พักผ่อน ในตอนกลางวัน  ตัวเรือนมีเสาเอกอยู่มุมบ้านเป็นที่ประดิษฐานผีบ้านผีเรือน  ครัวจะแยกออกจาก ตัวเรือน  ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม  แท่นตั้งเตาใช้ไม้ทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม กว้างยาว 2 ศอก วางบนพื้นครัวใช้ใบตองหรือใบไม้ปูรอง แล้วใช้ดินเหนียวใส่อัดจนแน่น   เตาไฟทำด้วยดินเหนียว โค้งเป็นวงกลม มีช่องด้านหน้าสำหรับใส่ฟืน ใช้หม้อดินเป็นภาชนะหุงข้าวและต้มแกง

อาหาร

ข้าวเป็นอาหารหลักรับประทานกับ  แกง  ต้ม  น้ำพริก แล้วแต่ฤดูกาลใด มีพืชผักใด น้ำพริกมอญ เป็นน้ำพริกที่คนไทย รับเอาวัฒนธรรมการกินของชาวมอญมา  และยังคงเรียกว่า น้ำพริกมอญ (เครื่องปรุงประกอบด้วย   พริกเผา หอมเผา กระเทียมเผา เนื้อปลาหรือเนื้อหมูสับ  ปลาร้าสับ โขลกให้เข้ากัน แล้วนำไปผัดกับกะทิ  ซอยต้นหอมโรยหน้า) ผักที่ใช้เป็นเครื่องเคียง น้ำพริกมอญ  ก็จะหาจากริมรั้วหรือสวนครัวที่ปลูกไว้ เช่น มะเขือ  ถั่ว  กระเจี๊ยบ

ภาษา

ชาวมอญจะใช้ภาษาของตนเองซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์  มีทั้งภาษาพูด ตัวอักษรภาษามอญ  การเรียนเขียนอ่านภาษามอญก็จะใช้วัดเป็นสถานที่เล่าเรียน   เมื่อมีโรงเรียน สอนภาษาไทยในวัด เด็ก ๆชาวมอญ ก็เรียนภาษาไทยเหมือนเด็กไทยทั่วไป ภาษามอญจึงไม่ได้ใช้ อ่านเขียน เหลือเพียงภาษาที่ ใช้พูดเท่านั้น

การประกอบอาชีพ

การทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพที่สำคัญ ทุกครอบครัวจะมีเครื่องมือในการทำนา  และเลี้ยงควายไว้ไถนา  และเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของต่างๆ  เกือบทุกครอบครัวจะทำไร่ ปลูกผักสวนครัว และหาปลา  การหาปลาของชาวมอญจะอาศัยความสามัคคีนัดวันไปจับปลากัน ทั้งหมู่บ้าน แต่ละคนจะนำเครื่องมือจับปลาที่ตนมีไปด้วย เช่น สุ่ม เฝือก ลอบ แห ยอ ช่วยกันจับปลา ได้อย่างมีประสิทธิภาพปลาไม่มีโอกาสจะหนีได้เลย

ประเพณีและความเชื่อ

ชาวมอญนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ในขณะเดียวกันยังมีความเชื่อ เรื่องวิญญาณ นับถือผีควบคู่กันไปด้วย วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ชาวมอญจะทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรม  เหมือนกับคนไทยทั่วไป   แต่วันออกพรรษามีพิธีที่แปลกออกไป คือ หลังจากทำบุญบนศาลาแล้ว จะมี พิธีล้างเท้าพระและถวายดอกไม้ พิธีเริ่มจากชาวบ้านทั้งชายหญิงนำผ้าใหม่ ๆ ซึ่งอาจเป็นผ้าขาวม้า หรือ ผ้าสะไบ  ปูตามทางจากบันไดศาลาไปยังอุโบสถ ให้พระเดินบนผ้านั้น  ทุกคนจะเตรียมขันน้ำและ ดอกไม้ ไว้พร้อมนั่งรออยู่สองข้างทาง ที่พระจะเดิน  เมื่อเริ่มพิธี พระสงฆ์ 2 รูปถือชายผ้าสบงนำแถว พระเดิน ไปบนผ้าที่ชาวบ้านปูราดไว้  เมื่อพระผ่านชาวบ้านจะใช้น้ำล้างเท้าพระและใส่ดอกไม้ ในผ้าสบงที่พระ 2 รูปถือมา จะล้างเท้าพระหมดทุกองค์ มีความเชื่อว่า เป็นการขอขมาลาโทษ และล้างบาป ซึ่งพวกตนอาจคิดหรือกระทำไม่ดีในระหว่างพรรษา และเพื่อให้พระสงฆ์ลงอุโบสถ อย่างบริสุทธิ์ ส่วนผ้าที่ปูราดทุกคนจะเก็บไว้บูชา

ในวันตรุษสงกรานต์มีพิธีพิเศษไปกว่าของไทยก็คือ  ลูกสะใภ้จะเตรียมขนม เช่น ข้าวเม่ากระยาสารท ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ใส่กระจาดหาบไปกับลูก ๆ เมื่อไปถึงบ้านพ่อ แม่ของสามี และญาติพี่น้องของฝ่ายสามี   ก็ขอขมาลาโทษและขอพร ฝ่ายทางบิดามารดา และญาติของสามีก็เตรียม ขนมไว้ตอบแทนเช่นกัน

ประเพณีส่วนบุคคล ในวิถีชีวิตของชาวมอญตั้งแต่เกิด ส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กับชาวไทย เช่น   เด็กที่เกิดมาถ้าสบายดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็อยู่ไปตามปกติ แต่ถ้ามีคนใดเจ็บป่วยบ่อย ญาติผู้ใหญ่ จะปั้นตุ๊กตาดินเหนียวเป็นรูปเด็กไว้ผมแกะ ไว้ผมเปีย ไว้ผมจุก ให้เด็กเลือกจับ เมื่อเด็กเลือกตุ๊กตา แบบใดก็จะให้ไว้ผม แบบตุ๊กตาตัวนั้น ซึ่งถือว่าตรงกับดวงชะตาของเด็กคนนั้น เด็กจะหายป่วยหายไข้ และสุขสบายดี

การแต่งงาน

ชาวมอญไม่มีขันหมาก ไม่มีสินสอด แต่ต้องมีเรือนหอ ถือว่าผีเรือนไม่รับลูกเขย ไว้ในบ้านของพ่อตาแม่ยาย ถ้าลูกเขยไม่มีกำลังพอที่จะสร้างเรือนหอได้ จะต้องหาเสาเรือนมาเปลี่ยน เสาเรือน บ้านพ่อตาแม่ยายต้นหนึ่ง หรือซื้อเรือนซื้อเสาเรือนบ้านพ่อตาแม่ยายแทนจึงจะตกลง  ให้แต่งงาน เข้าอยู่ในบ้านได้

ประเพณีการทำศพ

ถ้าเป็นศพเด็ก ไม่มีพิธีสวด จะนำไปฝังเลย ศพผู้ใหญ่มีพิธีรดน้ำพระสวด และคณะอาสา สวดที่เป็นชาวบ้าน   มีทำนองโหยหวน คร่ำครวญ เยือกเย็น ซึ่งชาวไทยเรียกว่า มอญร้องไห้ และที่ชาวมอญถืออีกอย่างหนึ่งก็คือ โลงศพไม่ให้นำขึ้นบนเรือน ถือว่าเป็นเสนียด ถ้าจะนำศพไปวัด ให้นำศพมาใส่โลงศพที่บันไดบ้าน

ผีมอญ

ผีที่มอญนับถือมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. ผีบ้านหรือผีเรือน แต่ละบ้านจะมีผีเรือนสถิตอยู่ที่ต่างๆไม่เหมือนกัน บางบ้านอยู่ที่เสาเอก บางบ้านสร้างเป็นบ้านหลังเล็กไว้ในบริเวณบ้าน นอกจากนั้นยังให้สถิตในสิ่งของ เช่น ในเสื้อผ้า ของบรรพบุรุษ แก้วแหวนเงินทอง ใส่ตะกร้าหรือหีบ ตั้งบูชาที่เสาเอกของเรือน ถ้าเป็นหอก ดาบ ประจำตระกูลก็ผูกผ้าแดงตั้งหรือแขวนไว้ที่เสาเอกของเรือนถือเป็นของสำคัญ ประจำตระกูลลูกหลานที่เป็นชายจะต้องรับช่วงดูแล  เมื่อพ่อตายลูกผู้ชายคนแรกก็รับผีไปไว้ที่ บ้านของตน เมื่อลูกชายคนแรกตายก็ตกทอดไปเป็นลูกชายคนที่สองแล้วตกทอดไปจนถึงลูกชาย คนสุดท้าย เมื่อลูกชายคนสุดท้ายตายให้ลูกชายคนแรกของพี่ชายใหญ่(หลานชาย) รับมอบหมายกันไป เช่นนี้ ไม่มีสิ้นสุด มีบางตระกูลผู้ที่จะรับผีไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสมจะจัดพิธีรับมอบพิเศษโดยให้  “โต้ง” หรือคนทรงผีเข้าทรงชี้ขาดว่า จะมอบให้ใครเป็นผู้รับ เมื่อคนทรงผีชี้แล้วผู้นั้นจะต้องรับไป เมื่อสิ่งที่ผีสถิตอยู่นั้น เกิดการเสียหายหรือศูนย์หาย ผู้รับผิดชอบผีจะต้องจัดหามาให้ใหม่เหมือนเดิม

การทำพิธีเซ่นสังเวยผี จัดทำเป็นประจำทุกปี  ในเดือน  6   ข้างขึ้นผู้ใหญ่ ของตระกูล จะนำลูกหลานกราบไหว้ขอขมา ขอพร บางบ้านมีรำมอญ เซ่นสังเวย เสร็จพิธีจะนำเครื่องเซ่น มาเลี้ยงดู กัน ระหว่างลูกหลานและญาติถือเป็นการรวมญาติประจำปี

  1. ผีประจำหมู่บ้าน เป็นศาลประจำหมู่บ้านที่ผู้นำหมู่บ้านและหมอทรง เป็นผู้กำหนดจัดตั้งขึ้น ใกล้ ๆ หมู่บ้าน เป็นที่เคารพบูชา ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน วันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 จะทำ พิธีบวงสรวง มี “โต้ง” หรือคนทรงเป็นเจ้าพิธีมีเครื่องเซ่นสังเวยตามความเชื่อ อย่างครบครัน เมื่อเข้าทรงแล้วจะทำนายเกี่ยวกับความเป็นอยู่   ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านในปีนั้น  มีการเข้าทรง ที่ติดต่อกับดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าใครต้องการติดต่อกับวิญญาณ ก็ให้นำเสื้อผ้า เครื่อง แต่งกายของผู้ตาย มาวางไว้ในพิธี คนทรงจะไปเลือกมาแต่งแล้วดวงวิญญาณของผู้ตายจะมาเข้าสิง แสดงกิริยาเหมือนผู้ตาย ลูกหลานหรือญาติของผู้ตาย ก็จะได้พูดคุยถามทุกข์สุข ได้ตามความประสงค์

การผิดผี

ผีบ้านผีเรือนมอญ  ห้ามหญิงที่ตั้งครรภ์ โดยไม่มีสามีถูกต้องหรือสามีไม่ยอมรับ ไม่ให้ขึ้นบ้านขึ้นเรือน ถ้ามีธุระกับเจ้าของบ้านก็ให้พูดคุยข้างล่าง   ถ้าเป็นชาวมอญด้วยกันจะไม่ ปฏิบัติให้ผิดผี   แต่ถ้ามีการผิดผีขึ้นเมื่อเจ้าของบ้านรู้ต้องรีบแก้เสนียด ด้วยการล้างตั้งแต่ในบ้าน จนถึงบันได บ้านอย่างรีบด่วน

 

 

 

ความเชื่อในเรื่องเวทย์มนต์ คาถา

ชาวมอญเชื่อและนับถือผู้ที่มีเวทย์มนต์ คาถา เช่น เกจิอาจารย์ คนทรง เมื่อมีเกจิอาจารย์ใดศักดิ์สิทธิ์  ก็จะไปขอเป็นศิษย์ร่ำเรียนคาถาอาคม   แล้วนิยมสักที่เนื้อตัวเป็นคาถา อาคมบ้าง เป็นยันต์บ้าง เป็นชื่อ ฉายาอาจารย์บ้าง  เพื่อความเป็นศิริมงคลคงกระพันชาตรี

นับตั้งแต่มอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบเมืองอุทัยเก่า 20 หมู่บ้าน ชาวมอญอยู่ทำมาหา กินกันอย่างมีความสงบสุข  จากพื้นฐานที่ชาวมอญ มีลักษณะนิสัยเยือกเย็นรักสงบ ขยัน อดทน อ่อนโยนปราณีปรานอม จึงทำให้ชาวมอญ อยู่ร่วมกับชาวไทยได้อย่างสงบสุขมั่นคง

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์