หม้อสามขา ยุคหินกลาง

ภาชนะดินเผาสามขา หรือเรียกอีกชื่อว่า หม้อสามขา เป็นภาชนะดินเผารูปแบบพิเศษ ที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ของไทย เมื่อประมาณ 3,500-4,000 ปีที่ผ่านมา โดยพบมากที่แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบ และเทือกเขาทางภูมิภาคตะวันตก ต่อเนื่องลงไปทางภาคใต้จนถึงคาบสมุทรมาเลย์แหล่งโบราณคดีสำคัญที่รู้จักกันแพร่หลายที่พบภาชนะดินเผาสามขา“หม้อสามขา” คือแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และแหล่งโบราณคดีบ้านแจงงาม จังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้พบแพร่กระจายลงไปทางจังหวัดราชบุรี ส่วนทางภาคใต้พบหนาแน่นในจังหวัดชุมพร ที่แหล่งโบราณคดีเขาทะลุ และแหล่งอื่นๆในอำเภอสวี ส่วนที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี พบที่แหล่งโบราณคดีนาเชียง แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ เป็นต้น เชื่อกันว่า หม้อสามขา ที่พบในประเทศไทยนี้ รับรูปแบบมาจากหม้อสามขาในวัฒนธรรมหลงซาน (Lung Shan) และวัฒนธรรมหยางเส้า (Yangshao) ของประเทศจีน ซึ่งมีอายุประมาณ 5,000 – 4,000 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ ที่ผู้คนรู้จักทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว การแพร่กระจายของหม้อสามขา เข้ามาในดินแดนประเทศไทยนั้น นักวิชาการเชื่อกันว่าเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยหินใหม่ในบ้านเราอย่างมาก เพราะสอดคล้องกับการที่ผู้คนในประเทศไทยเริ่มรู้จักทำเกษตรกรรม อีกทั้งการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ในสมัยนี้ยังพบว่ามีคนกลุ่มใหม่ๆ (มองโกลอยด์) เคลื่อนย้ายเข้ามาในดินแดนประเทศไทยมากขึ้น หม้อสามขา ที่พบแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยนั้น มักทำส่วนลำตัวและขาแยกกันก่อนแล้วจึงนำส่วนขามาเชื่อมต่อกับลำตัวส่วนขานิยมเจาะรู เพียง 1 รู รูปทรงของหม้อสามขาที่พบในภูมิภาคตะวันตกทั้งในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือทำส่วนขาเป็นทรงกรวยปลายแหลม มีทั้งแบบอวบอ้วนและผอมเรียวแหลม (ที่หนองราชวัตรนิยมทำขาสั้น) เนื้อดินปั้นบางมากจัดเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันที่เรียกว่า “วัฒนธรรมบ้านเก่า” ส่วนหม้อสามขาที่พบในภาคใต้มีลักษณะแตกต่างออกไป โดยนิยมทำขาหม้อยาว เนื้อดินปั้นค่อนข้างหนาทึบ ส่วนปลายตัดตรงไม่แหลมเหมือนทางภาคตะวันตก ความแตกต่างกันของรูปแบบหม้อใน 2 พื้นที่นี้บ่งชี้ว่าคนสมัยหินใหม่ในดินแดนประเทศไทย 2 กลุ่มนี้ อาจรับรูปแบบหม้อสามขา มาจากกลุ่มวัฒนธรรมต้นแบบในจีนที่ต่างกลุ่มต่างพื้นที่กันก็เป็นได้ ภาชนะดินเผาสามขา จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าระหว่าง พ.ศ.2503-2505 ของคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย- เดนมาร์ก ได้พบภาชนะดินเผาสามขาจำนวนหนึ่ง ภาชนะดังกล่าวคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมลุงชาน อันเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ของจีนที่มีการทำภาชนะในรูปแบบ กรรมวิธีการขึ้นรูป และประโยชน์ใช้สอยใกล้เคียงกับภาชนะดินเผาสามขาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า โดยเฉพาะการใช้ภาชนะดังกล่าวในพิธีกรรมการฝังศพ ด้วยการใช้เป็นสิ่งอุทิศแก่ผู้ตาย ซึ่งหลักฐานเหล่านี้อาจแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่า ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ประเทศจีน

http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/bankoa/index.php/en/hilight.html
Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์