100 ปี ธงชาติ

จมื่นอมรดรุณารักษ์ ( แจ่ม สุนทรเวช )

ธงชาติ

คือเครื่องหมายซึ่งแสดงให้รู้ถึงความเป็นเชื้อชาติของชนชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อนเป็นหมู่เป็นคณะ ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความมีอิสรภาพ เกียรติ อำนาจและการคุ้มครองอาณาบริเวณของแต่ละชาติ

ลักษณะ

ส่วนมากทั่วไปมักใช้ทำด้วยผืนผ้าในรูปลักษณะสี่เหลี่ยม มีความยาวมากกว่าความกว้างบ้าง ก็ปลายแหลมปลายหักสุดแต่จะพอใจ จัดขึ้นในสีต่างๆ ตามความมุ่งหมายของแต่ละชาติ ทั้งนี้บางโอกาสอาจใช้กระดาษหรืออะไรอื่นแทนในคราวจำเป็นเช่นใบเรือ บนหลังคา หรือที่ปีกเครื่องบิน ฯลฯ ก็ได้เป็นแต่จัดประดับ สีให้ถูกต้องในลักษณะสีธงที่ต้องการก็เป็นอันอนุโลมเข้าในลักษณะธงชาติได้

ความหมาย

เป็นเครื่องสำแดงเกียรติแห่งความมีอิสรภาพ ความเจริญด้วยวัฒนธรรมเป็นสัญญาณ ซึ่งสำแดงความทะนงและภาคภูมิในเกียรติศักดิ์แห่งประเทศชาติ เป็นเครื่องเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ บำรุงขวัญแห่งหมู่คณะในยามที่มีการต่อสู้ชิงชัย เช่นในการกรีฑาหรือการประกวดประชันหรือการแข่งขันกีฬาต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในการศึกสงคราม

ประโยชน์และคุณค่า

เพื่อยึดเหนี่ยวรวบรวมจิตใจคนในหมู่คณะผู้ร่วมชาติเป็นสัญญาณแห่งความสามัคคี พร้อมเพรียงทั้งกายใจ และวิญญาณให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งเป็นเครื่องประดับประดาให้เกิดความสง่างามแก่กองทัพทั้งหลายขบวนแห่หรือสถานที่ต่างๆ ในยามประดับธง เป็นสัญญาณแห่งการสดุดีและเคารพ เป็นอาณัติสำหรับโบกสะบัดแสดงความ ปิติยินดี อวยพรต้อนรับหรืออำลาอาลัยรัก ซึ่งล้วนไปด้วยคุณค่านานาประการ

กำเนิดธงสยาม

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน
ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวตามความในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย

รัชกาลที่ 1 – 3

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป (ยังไม่ใช่ธงชาติสยาม) นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ธงเรือหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ธงเรือหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2459

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับ ชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)

“ธงช้างเผือก” ธงชาติสยามในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ธงเกตุ” สำหรับชักที่หัวเรือหลวง (ต่อมาใช้เป็นธงฉานของกองทัพเรือไทย)

ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)

ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ มีพระราชดำริว่า ธงช้างทำยากและไม่ใคร่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ โดยธงช้างที่ขายตามท้องตลาดนั้นมักจะเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศและประเทศที่ทำไม่รู้จักช้าง ดังนั้น รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453

ธงค้าขาย พ.ศ. 2459

ธงราชการ พ.ศ. 2459

ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน)

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะสีขาบเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ ตามคติโหราศาสตร์ไทย และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย

ทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 โดยเชิญธงไตรรงค์เป็นธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหาร

อย่างไรก็ตาม ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

ธงไตรรงค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา

ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้านหน้า

ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้านหลัง

พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบันทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[5] ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็น ธงชาติอยู่เช่นเดิม โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม และรับรองมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์

ต่อมาวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

พัฒนาการของธงชาติไทยโดยสรุป

ภาพธง

ระยะเวลาการใช้

การบังคับใช้ธง

ลักษณะ

หมายเหตุ

สมัยอยุธยา – พ.ศ. 2325
(ธงเรือหลวง)
สมัยอยุธยา – พ.ศ. 2398
(ธงเรือเอกชน)

ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแดงเกลี้ยง

ไม่ระบุว่าใช้ครั้งแรกเมื่อไร

พ.ศ. 2325 – 2360

พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว

ใช้เฉพาะบนเรือหลวง

พ.ศ. 2360 – 2398

พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว

ใช้เฉพาะบนเรือหลวง

พ.ศ. 2398 – 2459

พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110

พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง

ใช้บนแผ่นดินเป็นธงแรก

พ.ศ. 2459 – 2460

พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ) พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง

สำหรับราชการ

พ.ศ. 2459 – 2460

พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 (ในชื่อ “ธงค้าขาย”)

ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 9 ส่วน กว้าง 6 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีแดงตรงกลางกว้าง 2 ส่วน

สำหรับสามัญชน

พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน

พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522

ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีน้ำเงินขาบตรงกลางกว้าง 2 ส่วน

ใช้ทั่วประเทศ

ลักษณะธงตามกฎหมาย

ตามความในมาตรา 5 (1) ของพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลักษณะธงชาติไว้ดังนี้

 


ภาพแสดงสัดส่วนธงชาติไทยที่ถูกต้อง

ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน

ความหมายของธง


ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

การชัก ใช้ และแสดงธงชาติไทย

ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่าง ๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่าง ๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ อีกหลายฉบับ อาทิ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ] ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นต้น โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ต้องใช้ธงชาติสำหรับชักขึ้นและลงตามที่ราชการกำหนด รวมทั้ง ต้องประดับธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควรเป็นการถาวรและสม่ำเสมอ สำหรับภาคเอกชนและบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปนั้นให้อนุโลมดำเนินการไปในทางเดียวกัน

     ที่มา http://www.thaiflag.org/

ธงชาติไทย

ชื่อธง             :     ธงไตรรงค์

สัดส่วนธง     :      2:3

ประกาศใช้     :     28 กันยายน พ.ศ. 2460 (99 ปี) (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศ          

                            ในราชกิจจานุเบกษา)

ลักษณะ         :     ธงสามสีห้าแถบ พื้นแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง แถบกลางกว้างเป็น 2 เท่า

                             ของแถบสีแดงและขาว

ออกแบบโดย :     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชการที่ 6)

ธงไตรรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ

ชื่อธง            :   ธงราชนาวี

สัดส่วนธง    :    2:3

ประกาศใช้   :    28 กันยายน พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศใน

                          ราชกิจจานุเบกษา)

ลักษณะ        :   ธงชาติ กลางเป็นวงกลมสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์