บุคคลสำคัญในจังหวัดอุทัยธานี

จังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์  มีบุคคลสำคัญในจังหวัดอุทัยธานีดังนี้

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ


นามเดิมชื่อกิมเหลียง วัฒนปฤดา การเกิดที่แพในลำน้ำสะแกกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2441
การศึกษา เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ได้เข้าศึกษาต่อทางบาลีที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร โดยบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 19 ปี สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค สอบได้ที่ 1 ในประเทศไทย ได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข 1 จากพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่ออายุได้ 20 ปี รับราชการในตำแหน่งเสมียน กระทรวงต่างประเทศ ออกไปรับราชการที่กรุงปารีส ศึกษารัฐศาสตร์ที่กรุงปารีสพร้อมกับศึกษากฎหมาย ไม่ทันได้รับปริญญา ต้องย้ายไปประจำประจำสถานทูตไทยที่กรุงลอนดอน
รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องด้วยเป็นคนขยันมีความอุตสาหะ พากเพียร มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นคนเอาใจใส่ช่างสังเกตจดจำ มองคนในแง่ดี นำสิ่งที่ดีของแต่ละคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและประเทศ มีความรู้ภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาบาลี ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาในกระทรวงต่างประเทศ เป็นเจ้ากรมประกาศิตและ อธิบดีกรมศิลปากร
ตำแหน่งทางการเมืองได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเศรษฐการเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่าง ๆ ดังนี้ ประเทศญี่ปุ่น, อินเดีย,สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, และยูโกสลาเวีย
หลวงวิจิตรวาทการ มีชีวิตในการศึกษา การทำงานอีกทั้งเรื่องการเสียสละ การรักชาติ นั้นถือได้ว่าเป็นนักชาตินิยมที่สมควรจะได้ศึกษาและเอาแบบอย่าง ท่านเป็นนักพูดและนักประพันธ์ ซึ่งผลงานสรุปโดยรวมแล้วมากกว่าพันเรื่อง
จากผลงานได้กล่าวแล้ว ท่านยังได้ทำประโยชน์ให้กับชาวอุทัยธานี เป็นอย่างมาก คือระบบการคมนาคมในจังหวัดอุทัยธานี ได้งบประมาณในการทำถนน อย่างต่อเนื่อง
หลวงวิจิตรวาทการ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 61 ปี

ผลงาน
หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้แต่งหนังสือประวัติศาสตร์สากล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 เล่ม โดยใช้นามปากกาว่า “วิเทศกรณีย์”ท่านยังเป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงปลุกใจให้รักชาติประกอบเรื่องในละครประวัติศาสตร์ เช่น เพลงตื่นเถิดชาวไทย เพลงต้นตระกูลไทย เพลงรักเมืองไทย เพลงเลือดสุพรรณ เพลงแหลมทอง และเพลงกราวถลางเป็นต้น นอกจากนั้นท่านยังแต่งบทละครอิงประวัติศาสตร์ และเพลงประกอบละครเหล่านั้น ไว้หลายเรื่องและหลายเพลง ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

รายชื่อละครประวัติศาสตร์
นเรศวรประกาศอิสรภาพ (พ.ศ. 2477)
เลือดสุพรรณ (พ.ศ. 2479)
พระเจ้ากรุงธน (พ.ศ. 2480)
ศึกถลาง (พ.ศ. 2480)

 

พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร)

 


พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกาย เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)หลังการมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านมิได้เน่าเปื่อยอย่างศพของคนทั่วไป และได้มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าซุงจนถึงปัจจุบันนี้
พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
พ.ศ. 2479 อายุ 20 ปี อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 13.00 น. ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พ.ศ. 2511 อายุ 52 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม จึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้างและขยายวัด ตั้งแต่พระราชพรหมยานมาอยู่วัดท่าซุง ได้มีการพัฒนาปรับปรุงและ ขยายพื้นที่ออกไปมากมาย และได้สร้างถาวรวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ห้องปฏิบัติกรรมฐาน จำนวนมาก โบสถ์ วิหารสมเด็จพระอริยเมตไตรย และอาคารที่สวยงามที่สุดก็คือ วิหาร 100 เมตร เป็นตึก 2 ชั้น
นอกจากการก่อสร้างถาวรวัตถุแล้ว ยังมีการทำพิธีเป่ายันต์เกราะเพชร ซึ่งเป็นพิธีกรรม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาเข้าร่วมพิธีกรรมนี้ นอกจากนั้น พระราชพรหมยาน ยังได้สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงเรียนวัดท่าซุง (ระดับประถม) โรงเรียนพระราชพรหมยาน (ระดับมัธยม) หนังสือธรรมะ และวัตถุมงคลที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง
พ.ศ. 2535 อายุ 76 ปี มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2535 เวลา 16.10 น. ปัจจุบันศพของหลวงพ่อได้บรรจุไว้ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำ ณ วัดจันทาราม ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

สมเด็จพระวันรัต (เขมจารีมหาเถระ)

สมเด็จพระวันรัต นามเดิม เฮง ฉายา เขมจารี เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และแม่กองบาลีสนามหลวง
สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า กิมเฮง บิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนชื่อตั้วเก๊า แซ่ฉั่ว มารดาชื่อทับทิม เสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรคนที่สี่ ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2424 (นับแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2425) ภูมิลำเนาท่านอยู่บ้านท่าแร่ ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี เมื่ออายุได้ 10 ปี ได้เรียนภาษาไทยกับพระอาจารย์ชัง วัดขวิด อยู่ 2 ปี แล้วย้ายไปเรียนกับ พระสุนทรมุนี (ใจ) ขณะยังเป็นพระปลัดอยู่วัดมณีธุดงค์
เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนภาษาบาลีที่วัดมณีธุดงค์ต่อจนกระทั่งอายุได้ 16 ปี ตรงกับปี พ.ศ. 2440 จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรียนภาษาบาลีกับพระยาธรรมปรีชา (ทิม) และหลวงชลธีธรรมพิทักษ์ (ยิ้ม) เมื่อยังเป็นมหาเปรียญ ต่อมาเรียนกับพระอมรเมธาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) วัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหลวง จนสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี พ.ศ. 2444 ปี พ.ศ. 2445 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) เป็น พระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) และพระเทพเมธี (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์แล้วเข้าสอบในปี ร.ศ. 122 ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยคต่อมาเข้าสอบอีกได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยคในปี ร.ศ. 123 และในที่สุดสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี ร.ศ. 124
นับแต่เป็นสามเณรเปรียญ 4 ประโยค ท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนในมหาธาตุวิทยาลัย เมื่อสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ชราภาพ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสโปรดให้ท่านเป็นผู้จัดการวัดมหาธาตุแทนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 เมื่อสมเด็จพระวันรัตมรณภาพในปี พ.ศ. 2466 ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าอาวาส สืบแทนตลอดช่วงเวลาที่ครองวัด ท่านได้จัดระเบียบวัดทั้งในด้านการทะเบียน การทำสังฆกรรม จัดลำดับชั้นการปกครองคณะ เข้มงวดกับจริยวัตรของพระเณรในวัด และจัดการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรม และก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับการขยายการศึกษา นอกจากนี้ท่านยังสนองงานถวายสมเด็จกรม พระยาวชิรญาณวโรรสจนเป็นที่พอพระทัย เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ประกาศใช้ ท่านได้รับคัดเลือกเป็นประธานสังฆสภาเป็นรูปแรก
สมณศักดิ์
พ.ศ. 2452 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงษ์
พ.ศ. 2455 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี ธรรมปรีชาภิมณฑ์ ปริยัติโกศล ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี
พ.ศ. 2459 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2464 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2471 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหนเหนือที่ พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลปรีชา ญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต อุตดรทิศคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2482 เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่หนใต้ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญญวาสี

มรณภาพ
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและมีอาการขั้วปอดโต เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 เวลา 20.30 น. ณ คณะ 1 วัดมหาธาตุฯ สิริอายุได้ 61 ปี 99 วัน พรรษา 42

 

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์