การทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าประชาชนในเขตพื้นที่ บ้านหาดทนง ตำบลหาดทนง บ้านบางกุ้ง ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และประชาชนในเขต พื้นที่บ้านหนองอีเติ่ง ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีอาชีพดั้งเดิมในการผลิตอาวุธปืน (เถื่อน) ด้วยภูมิปัญญาของตนเองมาเป็นเวลานานมากเท่าไร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดสืบต่อเนื่องกันมานาน โดยมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ จากหลักฐานของกลางที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ได้จับกุมในแต่ละครั้งแล้วได้มีการตรวจสอบ และทดลองใช้ดูแล้วจึงทราบว่ามีการพัฒนาอาวุธปืนขึ้นเรื่อยๆ จนทันสมัยมากถึงขั้นใช้แบบอัตโนมัติได้เป็นอย่างดี ปืนที่ชาวบ้านทำนั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางทำลายล้าง ฆ่าฟันกันมากกว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัว ทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามอาชีพนี้นับว่าเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงได้มีการปราบปรามกันอย่างจริงจัง ชาวบ้าน ดังกล่าวจึงไม่สามารถประกอบอาชีพผลิตอาวุธปืนเถื่อนต่อไปได้ จึงต้องหาวิธีการให้ประชาชนที่มีความชำนาญในอาชีพนี้หันมาประกอบอาชีพที่คล้ายคลึงกัน แต่จะต้องไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป อาชีพนี้ก็คือ การทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้
ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2528 บก.ภ.9 ได้ออกแผนป้องกันปราบปรามแหล่งผลิตอาวุธปืนและพัฒนาผู้กระทำผิด “สี่แคว 6/28” เพื่อดำเนินการในพื้นที่บ้านอีเติ่ง ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และในพื้นที่บ้านบางกุ้ง ตำบลสะแกกรัง และบ้านหาดทนง ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพื่อรองรับตามนโยบายของ บก.ภ.9 กก.ภ.จว.อุทัยธานี จึงได้ออกโครงการเสริมอาชีพราษฎรขึ้นมาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายต่อไป ซึ่งเรียกว่า โครงการฝึกอาชีพเสริมราษฎรของ กก.ภ.จว.อุทัยธานี ซึ่งมีเหตุผลดังนี้
บก.ภ.9 ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้า บ้านหนองอีเติ่ง ตามแผนสี่แคว 6/2528 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2528 เพื่อผลิตเครื่องมือการเกษตรให้กับผู้ละเลิกผลิตอาวุธปืนในเขตอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี จัดตั้งขึ้นที่บ้านหนองอีเติ่ง ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีผู้สามารถผลิตเครื่องมือเกษตรโดยเฉพาะทำจากโลหะ เหล็ก และส่วนประกอบโลหะอื่น ซึ่งได้แก่ มีอเนกประสงค์ มีตัดต่อกิ่งไม้ เป็นต้น ได้ผลดีแต่การขายจะต้องนำไปขายยังท้องถิ่นที่ต่างจังหวัด และไม่สามารถจำหน่ายแก่ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี ราษฎรผู้มอบอาวุธปืนไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เพราะขาดทุนทรัพย์ ขาดน้ำ และพื้นที่ดินแห้งแล้ง จึงยากแก่การปรับปรุงพื้นดินทางการเกษตรและไม่มีอาชีพอื่น ทาง บก.ภ.9 จึงได้ออกแผน “สี่แคว 6/2528” ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2528
แต่เนื่องจากผู้ละเลิกการผลิตอาวุธปืนที่มอบให้กับทางราชการก็ดี ที่ยังไม่มามอบก็ดี ปรากฏว่าทางการสืบสวนทราบว่า ยังมีราษฎรฝ่าฝืนไม่ละเลิกการผลิตอาวุธปืนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม เป็นการกระทำที่ยังขาดความรับผิดชอบ
กก.ภ.จว.อุทัยธานี จึงมีโครงการสร้างงานเสริมอาชีพให้กับราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลหาดทนง และตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โดยออกแผนรองรับแผนสี่แคว 6/2528 ของ บก.ภ.9 โดยความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานีและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดความมุ่งหมายในการที่จะตั้งร้านจำหน่ายผลผลิตเครื่องมือการเกษตรจากศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้าหนองอีเติ่ง และจะสร้างเสริมอาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ที่บ้านหาดทนง ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี
ที่มาของชื่อ “ศูนย์ฝึกอาชีพ นพเก้า”
กองบังคับการตำรวจภูธร 9 โดย พล.ต.ท.นพเก้า ธัญญสิริ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ 9 ขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าเมื่อการปฏิบัติตามแผนสี่แคว 6/2528 สิ้นสุดลง ประชาชนใน พื้นที่ ตำบลหาดทนง และตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ที่เลิกผลิตอาวุธ (ปืนเถื่อน) ยังไม่มีอาชีพอื่น อาจจะหวนกลับไปลักลอบผลิตอาวุธปืนเถื่อนอีก จึงจัดทำโครงการปราบปรามและพัฒนาแหล่งผลิตอาวุธปืนเถื่อนลงวันที่ 7 ตุลาคม 2528 เป็นการพัฒนาอาชีพ มอบหมายให้ ผกก.ภ.จว.อุทัยธานี และ ผกก.ภ.จว.นครสวรรค์ เป็นผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด
กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดหาที่ดินที่ติดกับตู้ยามหาดทนง โดยมี นายเจริญ บุญเกตุ และนางชั้น พุดโหมด ได้มอบที่ดินคนละ 1 งาน รวม 2 งาน และได้จัดหาทุนจากภาคเอกชนสนับสนุนซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 ไร่ รวมพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเสริมให้ราษฎร ซึ่งเป็นอาชีพใหม่สำหรับผู้ที่จะเลิกผลิตอาวุธปืนเถื่อนมาผลิตเครื่องมือที่ใช้เพื่อการเกษตร โดยจ่ายค่าแรงให้กับสมาชิกมีรายได้ ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี โดย พ.ต.อ.จุลสิงห์ ประภาสะโนบล ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์ฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร เป็นชื่อ ศูนย์ฝึกอาชีพนพเก้า เพื่อเป็นเกียรติแก่ พล.ต.ท.นพเก้า ธัญญสิริ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
วิธีการปฏิบัติงานและกระบวนการผลิต
แนวคิดและการออกแบบ
แนวคิดของชาวบ้านที่ทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ ได้มาจากทักษะความชำนาญและประสบการณ์เดิมที่ทำอาวุธปืนนั่นเอง เพราะชาวบ้านพวกนี้ทำปืนมานานจนเคยชิน ดังนั้นการออกแบบทำกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ก็เลยช่วยกันคิด และออกแบบคล้ายปืนไปหมด เช่น มีไกคล้ายไกปืน และล๊อคได้ด้วย มีท่อแป๊ปกลมยาว ซึ่งมีขนาดคล้ายลำกล้องของปืนลูกซอง มีด้ามกรรไกรเป็นไม้จริงประกอบเหล็ก ทำลักษณะคล้ายด้ามปืนและกลไกการทำงานของกรรไกรทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบสั้นหรือแบบยาว คล้ายกลไกการทำงานของปืนทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดและการออกแบบของภูมิปัญญาชาวบ้านหาดทนง บางกุ้ง และอีเติ่งทั้งหมดโดยแท้จริง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ
- เหล็กเส้น ขนาด ¼ นิ้ว (2 หุน) ใช้ทำไส้กรรไกรแบบยาว สำหรับสอยกิ่งไม้หรือผลไม้สูงๆ
- เหล็กแผ่น ขนาดกว้าง 3 ½ นิ้ว ยาว 3 เมตร ใช้ทำกรรไกร
- เหล็กแผ่นอย่างดี ขนาดกว้าง 3 ½ นิ้ว (ยาวเท่าไรไม่กำหนด) ใช้ทำปากมีด (ต้องซื้อจากหมู่บ้านอรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา)
- น๊อต (มีหลายขนาด)
- สปริง
- ไม้เนื้อแข็ง ใช้ทำด้ามกรรไกร
- ลูกผ้าขัดใบมีด ให้ขาวมันและคม
- น้ำยาไขปลาวาฬ ใช้ขัดใบมีดให้เงามัน
- น้ำยาชุบแข็ง ทาใบมีด และเผาให้ร้อนมากๆ
- น้ำยาเชื่อมเหล็ก (น้ำยาประสาน)
- ทองเหลืองเชื่อมเหล็ก
- ลวดผูกเหล็กใช้มัดเหล่อนก่อนเชื่อม
- ตะปู ขนาด 2 ½ นิ้ว ใช้ย้ำเหล็กขนาด 2 แผ่นขึ้นไปให้ติดกัน
- อลูมิเนียมเส้นกลมกลวง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ¾ นิ้ว (6 หุน) ยาว 6 เมตร ใช้ทำกระบอกตัวกรรไกรแบบยาว สำหรับสอยผลไม้หรือแต่งกิ่งไม้สูงๆ
- อลูมิเนียมแบน ขนาดกว้าง 1 ½ นิ้ว ยาว 6 เมตร ใช้ประกอบกับเหล็กทำปากกรรไกร ทั้งแบบสั้นและยาว แต่แบบสั้นใช้มากกว่า
เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต
- ปากกาจับชิ้นงาน ชาวบ้านเรียกว่า หัวช้าง หรือช้างสาน
- สว่านมือ ชาวบ้านเรียกว่า วิน ใช้สำหรับต๊าฟเกลียว
- สว่านไฟฟ้า (พัฒนาขึ้น) ใช้สำหรับเจาะเหล็ก
- ตะไบ
- เลื่อยมือตัดเหล็ก
- กระดาษทรายขัดเหล็ก (หยาบ – ละเอียด)
- หินเจียร์แบบแท่น (พัฒนาขึ้น)
- หินเจียร์มือถือ (พัฒนาขึ้น) ชาวบ้านเรียกว่า ลูกหนูหรือ ลูกหมู
- เตาไฟ
- ถ่านไม้ ฟืนไม้ไผ่
- ปีบ (ครอบ อบ รมดำ)
- น้ำมันหล่อลื่นเก่าๆ (ใช้แล้ว) หรือน้ำมันไฮโดรลิคเก่าๆ (ใช้แล้ว)
- น้ำธรรมดา
- ถุงมือ
- แว่นตา (ป้องกันลูกไฟ)
- คีมจับชิ้นงาน (คีมล๊อค)
- คีมคีบยาวจับชิ้นงาน
- แลคเกอร์เงา
- แปรงทาแลคเกอร์
- ไขควง
- ประแจผสม
- ค้นเหล็กหัวกลม
- ฟุตเหล็กหรือเหล็กฉาก
- เหล็กขีด
- เหล็กสกัด
- เหล็กตอกนำศูนย์
ขั้นตอนและกระบวนการผลิต
ขั้นตอนที่ 1 สร้างแบบตามที่ได้ช่วยกันออกแบบไว้แล้ว เช่น ปากกรรไกร ด้ามกรรไกร เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 นำแบบไปทาบกับแผ่นเหล็กแบนที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อที่จะวาดตามแบบ ลงบนแผ่นเหล็กนั้น ทั้งปากกรรไกร และด้ามกรรไกร แต่ส่วนมากนิยมทำปากกรรไกรก่อน เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการทำกรรไกรทุกชนิด
ขั้นตอนที่ 3 ทำด้ามกรรไกรตามแบบที่กล่าวไปแล้ว โดยร่วมกับไม้เนื้อแข็งประกอบเข้าด้วยกัน เป็นด้ามที่แข็งแรงสวยงาม เหมาะมือ
ขั้นตอนที่ 4 นำด้ามกรรไกรไปเชื่อม เพื่อให้เหล็กติดกันก่อนประกอบกับด้ามไม้ วิธีเชื่อมใช้วิธีการง่ายๆ คือ ใช้แผ่นทองเหลืองบางๆ นำมามัดด้วยลวดผูกเหล็กให้แน่นติดกับขาหรือด้ามกรรไกร แล้วนำไปเผาไฟให้ร้อนมากๆ จนทองเหลืองละลายลงไปอยู่ในช่องว่างระหว่างเหล็ก 2 อัน แล้วแปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นเหล็กก็จะติดกันแน่นเอง
ขั้นตอนที่ 5 ตกแต่งด้ามให้สวยงาม เรียบร้อยแล้วนำไปรมดำ
วิธีรมดำ ทำคล้ายกับการรมดำปืน ตามลำดับดังนี้
- ขุดหลุมลึกประมาณ 6 นิ้ว กว้างประมาณ 1 ฟุต ก้นหลุมรองด้วยใบไม้สด (จะเป็นใบหญ้านาง หรือใบขี้เหล็กก็ได้) ประมาณ 5 – 6 ใบแล้วนำน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วลาดลงไปบนใบไม้พอสมควร
- นำชิ้นงานไปวางบนโครงเหล็กที่ทำเป็นตะแกรงสูงเหนือใบไม้ประมาณ 3 – 4 นิ้ว แล้วนำปีบมาครอบ
- นำฟืนไม้ไผ่แห้งๆ มาสุม (ฟืนไม้ไผ่แห้งติดไฟง่าย ให้ความร้อนสูง รวมทั้งในแถบหมู่บ้านมีไม้ไผ่มากด้วย) แล้วก่อไฟ
- ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (โดยทิ้งให้ไฟมอดดับไปเอง)
- ใช้คีมคีบยาวจับชิ้นงานออกมาเพื่อนำไปจุ่มน้ำ หรือน้ำมันเครื่องเก่าๆ ก็ได้ เพื่อให้ชิ้นงานเย็น ก็เสร็จการรมดำ
ขั้นตอนที่ 6 นำด้ามกรรไกรมาประกอบกับไม้เนื้อแข็งที่ทำไว้แล้ว ตกแต่งให้สวยงามต่อไป
ขั้นตอนที่ 7 นำใบมีดที่ทำเสร็จแล้วไปชุบแข็ง
วิธีการชุบแข็ง ทำคล้ายกับการชุบแข็งไกปืน นกปืน ดังนี้
- นำใบมีดไปจุ่มน้ำมันเครื่องหล่อลื่นเก่าๆ แล้วโรยผงชุบแข็งให้ทั่วใบมีด (ผงชุบแข็งมีสีเหลืองๆ เป็นผงฝุ่นคล้ายแป้ง)
- นำใบมีดไปเผาไฟในเตาถ่านไม้ให้ร้อนมากๆ จนสังเกตว่าเหล็กใบมีดร้อนจนมีสีแดงส้มแล้วทั้งหมด
หมายเหตุ เนื่องจากใบมีดหรือปากมีด ทำมาจากเหล็กเหนียวอย่างดีเมื่อชุบแข็ง แล้วจะทำให้ใบมีดมีความแข็งและคมมากขึ้น
- รีบนำใบมีดที่กำลังร้อนมากๆ ออกจากเตาโดยใช้คีมคีบยาวแล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น โดยเร็ว และน้ำมันหล่อลื่นที่ข้นมากๆ เช่น น้ำมันเฟืองท้าย เกียร์ หรือไฮดรอลิกจะดีมาก เพราะจะไม่ลุกเป็นไฟง่ายจนกระทั่งใบมีดเย็นก็เสร็จการชุบแข็ง
ขั้นตอนที่ 8 นำใบมีดที่เย็นแล้วไปขัดให้สะอาดด้วยลูกผ้าปัดเงาที่มอเตอร์ เมื่อปัดแล้วใบมีดจะขาวมันเป็นเงางามและคมขึ้นด้วย (โดยทาน้ำยาขัดเงา คือไขปลาวาฬที่ลูกปัดผ้าด้วย)
ขั้นตอนที่ 9 นำอุปกรณ์ที่ทำแล้วทั้งหมดไปประกอบให้เป็นกรรไกรตัดแต่งกิ่งทั้งชุด ทั้งแบบสั้นและแบบยาว
ขั้นตอนที่ 10 ตรวจสอบโดยการนำไปทดลองใช้งานจริง ปรับแต่ง ทำความสะอาด ส่งมอบงานเพื่อจำนายให้ลูกค้าต่อไป
หมายเหตุ
กระบวนการผลิตดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ
- ถ้ากรรไกรแบบสั้นจะทำคนเดียวจนสำเร็จ
- ถ้ากรรไกรแบบยาวจะทำ 2 คน โดยคนหนึ่งทำใบมีดอีกคนหนึ่งทำด้ามแล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน