ภูมิปัญญาการจับช้าง – คล้องช้าง

ภูมิปัญญาการจับช้าง – คล้องช้าง

จังหวัดอุทัยธานีมีสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา ในเขตอำเภอบ้านไร่ ลานสัก มีป่า เบญจพรรณ ซึ่งประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดขึ้นปะปนกันหนาทึบเป็นป่ารกชันดังนั้นจึงมีสัตว์ป่ามากมาย อาทิ ช้าง เสือ หมี วัว กระทิง ควายป่า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี นกต่าง ๆ เช่น นกยูง นกเงือก ปัจจุบันเป็นสัตว์ประเภทอนุรักษ์

ราวปี พ.ศ. 2486 มีการจับช้างป่ามาใช้งาน โดยครอบครัวหนึ่ง มีนายอู๊ด พิลึก
เป็นหัวหน้าครอบครัว อพยพมาอยู่ที่ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี อยู่มาจนสร้างฐานะมั่นคงต่อมา ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน ตำบลตลุกดู่ กำนันอู๊ดมีนิสัยรักช้าง เดิมมีช้างอยู่ 1 เชือก ชื่อบุญมี และอยากจะมีช้างเพิ่มขึ้น จึงรวบรวม ชาวบ้านตลุกดู่ที่เป็นชาวสุพรรณบุรี และชาวชุมพร ที่มีความรู้ ความชำนาญในพิธีกรรม การจับช้าง ออกจับช้างในเขตป่าของจังหวัดอุทัยธานี มาเลี้ยงไว้ใช้งาน การจับช้างมี 2 วิธี คือ วิธีสร้างพะเนียด กับวิธีคล้องช้าง

การจับช้างวิธีสร้างพะเนียด

การจับช้างครั้งแรก เป็นการจับช้างด้วยวิธีสร้างพะเนียด คือการต้อนช้าง ให้เข้าไปอยู่ในพะเนียด แล้วเลือกจับคัดเลือกเชือกที่ถูกต้องตามใบอนุญาต ของทาง ราชการ เริ่มสร้างพะเนียดจะมีบุคคลสำคัญในพิธีการ 3 คน คือ หมอเฒ่า ครูบา และครูจียาย นอกนั้นเป็นคนงาน เรียกว่า “ลูกคอก” รูปแบบพะเนียดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านหน้ากว้าง 17 ศอก ด้านข้างสองด้านยาวด้านละ 15 วา ด้านหลังกว้างเพียง 3 ศอก ส่วนสูงของพะเนียดสูง 7 ศอก ใช้เสาไม้ใหญ่ปักเรียงกันตามแนวยาว มีคานผูกติดกับเสาใหญ่ 4 แถว เรียกว่า “คันเรียง” ด้านหน้าทำเป็นแนวต่อยาวออกไปจากเสาต้นแรกและต้นสุดท้าย ด้านละ 15 วา เรียกว่า “หูช้าง” ด้วยเสาไม้ใหญ่ ปักเรียงกันและผูกติดด้วยคันเรียง 4 แถว เช่นเดียวกับคอก ด้านหน้าจะเปิดประตูช่องว่างไว้ ขนาดพอให้ช้างลอดเข้าไปได้ เหนือช่องว่างมีกรงแข็งแรงสำหรับปิดประตู เวลาช้างป่าเข้า พะเนียด เรียกว่า “กรงผลัก” การต้อนช้างจะใช้คนตีเกราะ เคาะไม้ (โปง) เพื่อไล่ช้างให้ไปอยู่ใกล้ประตูพะเนียด แล้วหมอเฒ่าก็จะให้สัญญาณ ผู้นั่งห้างบริเวณหูช้างก็จะจุดไต้ จุดประทัด ช้างก็จะตื่นวิ่งเข้าพะเนียด เมื่อช้างเข้าพะเนียด หมอเฒ่าจะตัดเชือกให้กรงหล่นลงมาปิดปากพะเนียด เมื่อช้างเข้าไป ช้างจะตื่น ดิ้น กระแทกข้างพะเนียดต้องหาอะไรคอยทิ่มแทง และจุดไฟรอบพะเนียด เพราะช้างกลัวไฟ เมื่อช้างดิ้นจนหมดแรง จึงเริ่มทำการจับช้างด้วยการคล้องบ่วงบาศ์ซึ่งทำด้วยปอแดง พันปลายไม้ เรียกว่า “คันจาม” คล้องขาตัวใหญ่สี่ขา ตัวเล็กสองขา ผูกติดกับพะเนียด เมื่อได้ช้างตามต้องการแล้ว ผูกไว้ในพะเนียด 2 – 3 วัน ให้อดอาหารจนอ่อนแรง แล้วใช้เชือก ผูกคอและขาของช้างป่าเชือกที่ต้องการติดกับช้างบ้านที่เตรียมไว้ ฉุดออกจากพะเนียด ช้างที่เหลือ ก็ปล่อยจากพะเนียดเข้าป่าไปการดูแลรักษา และฝึกช้างเป็นหน้าที่ของหมอเฒ่า ครูบา และครูจียาย เช่น ช้างบาดเจ็บเป็นแผลก็จะใช้เปลือกประดู่ เปลือกแต้ ที่พอจะหาได้ในป่า โขลกแช่น้ำทารักษา เมื่อแผลหายแล้ว จึงดำเนินการฝึกเข้า “พึงพาด” (คือเครื่องมือฝึกเหมือนทำเข้าซอง แต่มีคานเรียงขนาบข้างตัว) หัดเข้าปลอกถอดปลอกให้นอน ลุก โดยใช้ปฏัก (ขอเหล็ก) แทงขาฝึกประมาณ 10 วัน ช้างจะเริ่มเชื่องรู้ภาษาของควานช้างและทำตามคำสั่งได้ สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อช้างทำตามคำสั่ง แล้วต้องให้รางวัล หรืออาหารทันที ช้างป่าฝึกง่ายกว่าช้างบ้าน

การจับช้างด้วยวิธีคล้องช้าง

วิธีนี้คล้ายกันกับวิธีของชาวอีสาน ชัยภูมิ สุรินทร์ วิธีการก็ต้องขออนุญาต ก่อนเหมือนกัน เริ่มพิธีบวงสรวง เรียกว่า พิธี “ประเชือก” โดยตั้งขัน 5 ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า ไก่ต้ม (ไก่จะไม่เชือดคอให้ตาย แต่จะใช้วิธีหักหลังแทน) และมีการเสี่ยงทายจากคางของ ไก่ต้ม ที่ประกอบพิธีว่า คางของไก่งอนขึ้นมาจะได้ช้างงา แต่ถ้างอนลงจะได้ช้างตัวผู้ (ช้างดอ) ถ้าคางไก่บรรจบกันพอดีจะได้ช้างตัวเมีย (ช้างพัง) เมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้วจะใช้ช้างบ้าน เรียกว่า “ช้างต่อ” ช้าง 1 เชือกต่อคน 2 คน คือควานช้างนั่งคอ อีกคนหนึ่งนั่งหลัง ไปครั้งหนึ่ง ๆ จะมีช้างต่อประมาณ 4 ตัว คนนั่งคอจะเป็นคนคล้องขาช้างป่า คนนั่งหลังจะเป็นคนใสช้าง ก่อนเข้าป่าทำพิธีคล้องช้างจะต้องสำรวจช้างในป่าว่าแหล่งใดมีช้าง มากน้อยเท่าไร เรียกว่า “แมวมอง” ผู้ร่วมคณะออกไปคล้องช้างทุกคนจะต้องถูกประกอบพิธี “บวช” โดยหมอช้าง จะซักถามประวัติส่วนตัว ถ้าเป็นคนไม่ดีต้องบวชโดยโกนหัว โดดน้ำ แล้วขึ้นมาสารภาพความผิด เมื่อบริสุทธิ์แล้วเสียค่าปรับ 1 บาท จึงร่วมไปกับคณะได้
อุปกรณ์การคล้องช้าง มีหนังประคำคันจามหนัง 3 เกลียว ทำด้วยหนังควาย 3 ตัว บ้านอก (ปืน) พลอย (มีด) ร่วย (เงิน) บุคคลที่ร่วมคณะ มีรือเสาะ (ผู้แสวงหาช้าง) หมอช้าง ควาน และคนประจำช้างขานชื่อช้างต่อทุกเชือก เมื่อเดินทางออกจากบ้านแล้ว จะไม่กลับเข้าบ้านจนกว่าจะเสร็จพิธีคล้องช้าง เคล็ดลับสิ่งต้องห้ามที่สำคัญ คือ เมื่อสามีออกจากบ้านไปจับช้าง ภรรยาที่อยู่บ้านจะตัดผม แต่งหน้า และนุ่งผ้าซิ่น สีแดงตีนจกไม่ได้

เมื่อสืบเสาะไปพบฝูงช้างป่าแล้ว ก็จัดเอาสะเบียงลงจากหลังช้าง เหลือไว้เพียงเครื่องมือจับช้าง จัดการตั้งชุม (ที่พัก) แล้วเดินทางไปยังโขลงช้างป่า ไสช้างต่อประชิด ใช้บ่วงบาศคล้องช้างป่าโดยคล้องที่ขา ถ้าวิ่งหนีก็ไสช้างต่อวิ่งตาม จนใช้บ่วงบาศคล้องจนได้ แต่ละตัวที่คล้องได้ พยายามสาวเชือกให้สั้นเข้า ผูกหางเชือกติดไว้กับช้างต่อ พยายามนำช้างป่าเข้าหาต้นไม้ใหญ่ แล้วผูกติดไว้กับต้นไม้ ถ้าเป็นลูกช้างแม่ช้างจะมาวนเวียนอยู่ใกล้คอยรบกวนเสมอ ผูกไว้ประมาณ 2 วัน นำออกใส่ขื่อคา (เป็นแบบไม้ 2 อันขนาบคอ ด้านบนขยายตัวได้ ด้านล่างเลื่อนขยับได้) ถ้าช้างป่ายังมีพยศ ขื่อคาก็จะบีบรัดคอให้แน่นและเจ็บ ช้างก็จะหยุด ขื่อคาก็จะคลายออก ขั้นตอนต่อไปจะนำช้างป่าออกจากขื่อคามาผูกติดกับคอช้างต่อ ออกหากิน คู่กับช้างต่อได้

เมื่อได้จำนวนช้างตามใบอนุญาต (ช้างต่อ 1 ตัว ต่อช้างป่า 3 ตัว) แล้วพากลับบ้าน แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินราคา เสียภาษี ทำตั๋ว จากนั้นก็ทำการฝึก โดยให้เข้าพึงพาด ไม่เกิน 3 วัน ก็ขึ้นคอแยก แล้วฝึกตามวัตถุประสงค์ของผู้เลี้ยง เช่น ลากซุง ขนไม้รู้จักหลบหลีก เคยชินกับบรรยากาศธรรมชาติท้องถิ่น เข้ากับเสียงกลอง เสียงแตร เสียงแปลก ๆ ที่จะไม่ทำให้ช้างตกใจ

กำนันอู๊ดได้นำช้างมาฝึกเตะบอล ฝึกไต่สะพาน เล่นละคร เรื่อง พระนเรศวรชนช้าง ถีบสามล้อ เป็นต้น ฝึกให้แสดงได้ เช่น ร้องเพลง เต้นตามจังหวะเพลง จนเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไปในประเทศ ได้ไปร่วมการแสดงงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้นยังนำช้างไปแสดงยังต่างประเทศ ที่ประเทศ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาลูน ได้ไปแสดงถวายสมเด็จพระศรีนครินทรฯ ที่จังหวัดแพร่ แสดงงานการกุศลต่างๆ งานอุปสมบท และร่วมงานกาชาดของจังหวัด

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์