เมื่อนกเงือกถูกไล่ล่าเพื่องาเลือด
นกเงือกที่เห็นในภาพคือนกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหายากหน้าตาประหลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในป่าเขตร้อน นอกจากลักษณะเฉพาะตัวที่น่าอัศจรรย์ นกชนหินยังมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากนกเงือกชนิดอื่นๆตรงที่มีโหนกตันเหมือนงาช้าง
เศรษฐกิจที่เพื่องฟูในประเทศจีนทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างกลับมาได้รับความนิยมอย่างยิ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และหนึ่งในวัตถุดิบที่มาแรงสุดๆเพื่อบ่งชี้สถานะความร่ำรวยก็คือ งาเลือด หรือ งาสีแดงที่ได้จากหัวนกชนหิน
หัวนกชนหินกลายเป็นวัตถุดิบมีค่าในการแกะสลักแปรรูปเป็นเครื่องประดับ อัญมณี หรือหัวเข็มขัด งาสีอมแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ความมั่งคั่ง เพราะหัวนกชนหินนั้นหายากยิ่งกว่างาช้าง
เมื่อราว 5 ปีก่อนกลุ่มนักอนุรักษ์ท้องถิ่นในบอร์เนียวเริ่มสังเกตว่าเริ่มมีหัวนกชนหินมาขายในตลาดมืดอีกครั้ง พวกเขาจึงเริ่มสำรวจข้อมูลในปี 2012 และก็ต้องพบกับความจริงที่น่าตกใจว่าเฉพาะทางตะวันตกของรัฐกาลิมันตัน นกชนหินถูกล่ามากถึง 500 ตัวต่อเดือน หรือตก 6,000 ตัวต่อปี เฉพาะซากหัวนกที่ถูกจับและยึดได้ระหว่างปี 2011-2015 ก็มีมากกว่า 1,800 หัวแล้ว
“ค่าหัวนกชนหินที่สูงลิบทำให้พรานที่เข้าป่าไล่ยิงนกเงือกทุกตัวที่เห็น โดยหวังว่าหนึ่งในนั้นจะเป็นนกชนหิน” Nigel Collar นักวิจัยอาวุโสแห่ง BirdLife International องค์กรอนุรักษ์นกสากล กล่าว
จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา IUCN องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ปรับสถานภาพการอนุรักษ์นกชนหินแบบก้าวกระโดดจาก ใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) เป็น ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขณะนี้กลุ่มนักอนุรักษ์นานาชาติ รวมทั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รวมตัวกันเพื่อหาทางหยุดยั้งขบวนการล่านกชนหิน โดยพยายามทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เพราะนกชนหินได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในทุกประเทศ รวมทั้งในประเทศจีน
อนุสัญญาไซเตสที่ว่าด้วยการค้าพืชป่าและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ก็ให้การคุ้มครองนกชนิดนี้ในขั้นสูงสุดหมายความว่าห้ามมิให้มีการค้าระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด แต่ตลาดมืดก็ยังคงเฟื่องฟู
นอกจากงานระยะสั้นที่เร่งเข้มงวดด้านกฎหมาย งานระยะยาวคือการทำงานอนุรักษ์ในชุมชน พร้อมไปกับงานรณรงค์ลดความต้องการในประเทศจีน ก็เป็นสิ่งจำเป็น
การสูญพันธุ์ของนกชนหินคงไม่ใช่แค่ความสูญเสียในระดับพื้นที่ที่ต้องขาดผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ชั้นหนึ่งในป่า แต่นับเป็นโศกนาฎกรรมระดับโลกเลยทีเดียว ถ้าเราไม่อาจปกป้องสายพันธุ์ที่มีความมหัศจรรย์เช่นนี้ไว้ได้
เรียบเรียงจาก These rare birds are being slaughtered for their ‘ivory’ โดย Rachael Bale National Geographic website 16 March 2016
http://news.nationalgeographic.com/…/160316-helmeted-hornb…/