เครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดี

เครื่องปั้นทวารวดี

ทวารวดีเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะใช้กำหนดเรียกงานศิลปะกลุ่มหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน

ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล เกิดขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๖

เครื่องปั้นทวารวดี ซึ่งได้พบทั่วไปในชุมชนโบราณช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่า มีแบบไม่แตกต่างกันมากนัก งานที่ผลิตกันทั่วไป จนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทวารวดี เนื่องจากได้พบในชุมชนโบราณทุกแห่ง คือ

หม้อมีสัน และกาน้ำ นอกจากนั้นเป็นภาชนะรูปร่างต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มเนื้อหยาบ

เครื่องปั้นเนื้อหยาบเป็นผลเนื่องมาจากดินที่นำมาปั้น มีการผสมทรายหยาบลงไปในเนื้อดิน การนวดผสมดินกับทรายหยาบ ทำพอประมาณให้เข้ากันได้เท่านั้น ภาชนะส่วนใหญ่ขึ้นรูปด้วยมือ มีบางชนิดที่ขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุน รูปแบบของภาชนะในกลุ่มเนื้อหยาบ เช่น ชามก้นกลม หม้อก้นกลมขนาด และรูปแบบต่างๆ ภาชนะดังกล่าวมักเผาไฟอุณหภูมิต่ำ เนื้อในของภาชนะไม่ใคร่สุก วัตถุประสงค์ของการทำ เช่นนั้นเป็นเพราะภาชนะดังกล่าวใช้ใส่เมล็ดพืช ใส่น้ำ เนื่องจากต้องการความพรุนให้มีอากาศถ่ายเทได้ ในกรณีที่ใช้เก็บเมล็ดพืชเพื่อทำพันธุ์ในฤดูเพาะปลูกต่อไป ทำให้เมล็ดพืชไม่เสียหาย และในกรณีที่ใช้ใส่น้ำดื่ม ความพรุนของภาชนะ ทำให้น้ำมีความเย็น เนื่องจากการถ่ายเทความร้อน ที่ผ่านตามรูพรุนนั้น

หม้อมีสัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นทวารวดี จัดอยู่ในกลุ่มภาชนะเนื้อหยาบ แต่มีความหยาบน้อย และเผาไฟด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่าเครื่องปั้นเนื้อดิน กลุ่มเนื้อหยาบทั่วไป หม้อมีสัน มีลักษณะปากกว้าง ที่สันหม้อ ซึ่งเป็นรอยต่อ ระหว่างส่วนบ่า และก้นหม้อ ทำเป็นสันนูน หม้อบางใบมีรอยขีดตกแต่งบนสันด้วย ที่ส่วนก้นหม้อ ตั้งแต่สันลงมาตกแต่งด้วยลายขูดขีดหรือลายกดทาบ ภาชนะชนิดนี้มีทั้งแบบก้นลึกและก้นตื้น มีทั้งที่ ขัดมันเฉพาะที่คอและบ่าของภาชนะ และไม่ ขัดมัน หน้าที่ใช้งานใช้ในการหุงต้ม

งานในกลุ่มเนื้อหยาบที่พบเสมอคือ ตะคัน เป็นภาชนะขนาดเล็ก ขึ้นรูปด้วยมือ ไม่มีการตกแต่ง รูปกลม ก้นแบนตื้น ใช้ใส่น้ำมัน ที่ขอบมีจีบ ๑ จีบ สำหรับพาดไส้จุด เพื่อให้แสงสว่าง ตะเกียงลักษณะเป็นรูปกลม ก้นแบบตื้น ใช้ใส่น้ำมัน ด้านหนึ่งยื่นออกมามีช่อง สำหรับใส่ไส้เพื่อจุดให้แสงสว่าง

กาน้ำหรือกุณฑี เป็นภาชนะใช้ใส่น้ำ จัดอยู่ในกลุ่มเนื้อหยาบ แต่มีความหยาบน้อย และเผาไฟด้วยอุณหภูมิสูง ตัวภาชนะเป็นรูปกลม มีเชิง ตั้งกับพื้นได้ คอภาชนะเล็กสูง ปากผาย ออกแบบ พอดีให้มือจับยกหรือเอียง

เมื่อเทน้ำออกจากพวยกาได้ ภาชนะดังกล่าวใช้เพื่อใส่น้ำดื่ม ไม่สามารถ นำไปตั้งไฟต้มน้ำได้ พบในชุมชนทวารวดีทุกแห่ง

๒. กลุ่มเนื้อละเอียด

เป็นเครื่องปั้นจากเนื้อดินละเอียด ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ผิวเรียบ มีทั้งเคลือบผิวด้วยน้ำดิน และไม่เคลือบผิว ผิวนอกขัดมัน และไม่ขัดมัน ภาชนะในกลุ่มนี้เผาด้วยไฟแรงสูง ตัวภาชนะสุกสม่ำเสมอกัน ภาชนะบางแบบมีฝาปิด รูปแบบของภาชนะในกลุ่มนี้ ได้แก่ จาน ชาม ภาชนะคล้ายแจกัน กระปุกขนาดเล็ก กุณโฑ หม้อ เป็นต้น

การตกแต่งภาชนะในกลุ่มนี้ไม่ใช้ลายขูดขีดและลายกดทาบแบบกลุ่มแรก แต่มักเป็นลวดลายที่ขูดลึกลงไปบนผิวภาชนะด้วยหวี เป็นลายลูกคลื่น ลายเส้นคู่ขนานแนวนอน ลายผสมระหว่างลายคลื่นและลายคู่ขนาน และการตกแต่งลวดลายแบบอื่นในลักษณะของการเน้นความสวยงาม ระบายสีด้วยสีขาว หรือสีแดงบนปากและขอบปากภาชนะ หรือเขียนสีแดงเป็นวงกลมที่ด้านในของก้นภาชนะรูปถ้วย เป็นต้น ภาชนะที่เป็นรูปหม้อบางแบบมีลายกดประทับเป็นรูปช้าง สิงโต หงส์กางปีก ลายดอกไม้ ลายกลีบบัว ประดับที่ส่วนไหล่ของภาชนะด้วย

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์