หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารที่บันทึกข้อมูลความรู้บนกระดาษแบบไทย ซึ่งทำเป็นแผ่นยาวติดต่อกัน มีความหนาพอประมาณ สามารถทำให้เป็นเล่มได้โดยไม่ต้องเย็บเหมือนปัจจุบัน แต่ใช้การพับกลับไปกลับมา ให้เป็นเล่มหนาหรือบางเท่าใดก็ได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ทำให้เล่มสมุดมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นวัสดุรองรับการเขียนหรือชุบลายลักษณ์อักษรได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของสมุด ทำให้หนังสือสมุดไทยมี ๒ หน้า คือ หน้าต้น หมายถึงด้านที่เริ่มบันทึกเรื่องราวก่อน และหน้าปลาย หมายถึงด้านกลับของหนังสือสมุดไทยที่ใช้บันทึกเรื่องราวต่อจากหน้าต้นจนจบความหรือจนหมดหน้าสมุด
หนังสือสมุดไทยนี้ ทำจากเปลือกของต้นข่อยนำมาผ่านกรรมวิธีขั้นตอนยุ่งยากหลายขั้นตอนจนเป็นเล่มสมุด มี ๒ สี คือ สีขาว ซึ่งเป็นสีธรรมชาติของเปลือกข่อย เรียกว่า สมุดไทยขาว และสีดำ ที่ใช้เขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียดผสมลงในแป้งข้าวจ้าว ตั้งไฟกวนจนเข้ากันเป็นแป้งเปียกสีดำ นำไปลบกระดาษสมุดขาวทีละด้านและตากจนแห้งสนิท เรียกว่า สมุดไทยดำ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกกันว่า สมุดข่อย เนื่องจากทำมาจากเปลือกของต้นข่อย และในภาคใต้มักเรียกสมุดไทยเป็นคำสั้น ๆ ตามสีของสมุดว่า “บุดดำ บุดขาว” ส่วนภาคเหนือเรียกว่า “พับสา”เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้ทำสมุดนำมาจากพืชที่มีมากในท้องถิ่นนั้น คือ ต้นปอสา ซึ่งสามารถนำมาทำให้เป็นกระดาษแล้วพับกลับไปมาเป็นเล่มสมุดได้เช่นกัน
งานเอกสาร ภาษา และหนังสือ เป็นภารกิจหนึ่งของกรมศิลปากร มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการบริการและเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหนังสือสมุดไทยที่มีเนื้อหาความรู้ในอดีตนานัปการ อาทิ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี กฎหมาย ตำรายา อักษรศาสตร์ วรรณคดีต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรและภาพเขียน จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ และนำความรู้มาสร้างทุนทางปัญญาแก่คนไทย การสร้างสรรค์ ต่อยอดและเพิ่มคุณค่าประการหนึ่ง คือ งานวรรณกรรม ทั้งนิยาย นวนิยาย ที่ได้คัดสรรความรู้จากสมุดไทยประเภทต่าง ๆ มาสอดแทรก เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน
ที่มา: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร http://www.finearts.go.th/