วัดอุโปสถาราม 

วัดอุโปสถาราม เดิมชื่อ “วัดโบสถ์ มโนรมย์” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ฝั่งตรงข้ามกับตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2324 บ้างชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้สั้น ๆ ว่า “วัดโบสถ์” วัดอุโปสถารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2325

โบราณสถานที่สำคัญ ของวัดอุโปสถารามมีดังนี้

1. มณฑปแปดเหลี่ยม

2. อุโบสถ

3. วิหาร

4. เจดีย์

5. หอประชุมอุทัยพุทธสภา

6. แพโบสถ์น้ำ

 

1.มณฑปแปดเหลี่ยม

มณฑปแปดเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของวัดอุโปสถาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังมณฑปหลังนี้หลวงพิทักษ์ภาษา (บุญเรือง พิทักษ์อรรณพ) ตั้งใจสร้างถวายให้พระสุนทรมุนี (จัน) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี (ฉายาเดิมเป็นพระครูอุทัยธรรมนิเทศ) จำพรรษา แต่เมื่อสร้างเสร็จ พระสุนทรมุนีมรณภาพ จึงใช้เป็นสถานที่ตั้งศพ และหลังจากนั้นใช้เป็นที่ประดิษฐานอัฐิพร้อมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของท่าน ปัจจุบันได้บูรณะซ่อมแซมใหม่จัดเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าและเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าของชาวอุทัยธานี

2. อุโบสถ

เป็นพระอุโบสถที่เก่าแก่และงดงาม ก่อสร้างโดยช่างฝีมือชั้นครู สันนิษฐานว่าก่อสร้าง มาเป็นร้อยปีล่วงมาแล้วในปี พ.ศ. 2518 – 2519 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ก็ยังคงรักษารูปทรงของเก่าได้เหมือนอย่างเดิม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืองดงามมากเขียนในสมัยรัชกาลที่3ตอนปลาย แล้วเสร็จในต้นสมัยรัชกาลที่4 โดยฝีมือช่างหลวง(ช่างที่มาจากกรุงเทพฯ ) แบ่งการเขียนเป็น 2 ส่วน เบื้องล่างเป็นภาพพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติ บรรพชา มารผจญ ตรัสรู้ โปรดปัญวัคคีย์ ปรินิพพาน และถวายพระเพลิง เบื้องบนเป็นภาพเทพชุมนุมสลับพัดยศลายต่างๆ ปัจจุบันภาพบางภาพชำรุดและได้ซ่อมแซมใหม่ยังคงภาพจิตรกรรมเหมือนเดิม นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัยเป็นพระประธานอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยอีก 4 องค์

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัย

3.วิหาร

สร้างคู่มากับพระอุโบสถ ทำการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2475 และทำการบูรณะล่าสุดในปี พ.ศ. 2550มีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งในและภายนอกพระวิหาร ภายในเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสรวงสวรรค์ พิธีอสุภกรรมฐานและภาพด้านบนของฝาผนังเป็นภาพชุมนุมพระสงฆ์สาวก สลับพัดยศลายต่างๆ ด้านนอกหน้าพระวิหารเป็นภาพการถวายพระเพลิง และวิถีชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ภายในพระวิหารนอกจากมีภาพจิตรกรรมแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสมัยรัตนโกสินทร์อยู่หลายองค์

พระพุทธรูปยืนสมัยรัตนโกสินทร์

4. เจดีย์

หลังพระอุโบสถ และวิหารมีเจดีย์ 3 องค์ องค์ทางทิศเหนือเป็นเจดีย์หกเหลี่ยม ทรงอยุธยา องค์กลางเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์มีเจดีย์เล็ก 5 ยอด องค์ด้านทิศใต้เป็นเจดีย์ลอมฟาง ทรงสุโขทัย นับว่าเป็นสิ่งแปลกที่เจดีย์ทั้งสามถูกสร้างอยู่ในหมู่เดียวกัน ผู้สร้างคงตั้งใจสร้างไม่ให้ซ้ำใคร ทำให้ดูแปลกตาดี

เจดีย์หกเหลี่ยมทรงอยุธยา

 

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์

 

เจดีย์ลอมฟางทรงสุโขทัย

5.หอประชุมอุทัยพุทธสภา

สร้างในปี พ.ศ. 2492 สมัยพระครูอุเทศธรรมวิจัย (หลวงพ่อป๊อก) เป็นเจ้าอาวาส สร้างโดย นายเอื้อน นางถมยา พรพิบูลย์ ใช้เป็นหอสวดมนต์เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ชั้นบนทึบมีฝาเฟี้ยมโดยรอบ ชั้นล่างโปร่งหลังคาลดหลั่นกันมีหน้า 3 ด้าน กันสาดมุงด้วยสังกะสี หน้าบันแต่ละด้านมีลวดลายปูนปั้นไม่ซ้ำแบบกันตกแต่งพื้นด้วยกระจกสี และ ลงลักปิดทองลวดลายสวยงามมากควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป

ภาพหอประชุมอุทัยพุทธสภาวัดอุโปสถาราม

6. แพโบสถ์น้ำ

พระครูอุทัยธรรมนิเทศ (จัน) สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) เดิมเป็นแพแฝด 2 หลัง มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนอุโบสถทั่วไป หน้าบันมีป้ายสีแดงเป็นวงกลม จารึกเป็นภาษาบาลีว่า “ สุ อาคตํ เตมหาราชา ”แปลว่า มหาราชาเสด็จฯ มาดี สมัยต่อมาซ่อมแซมปรับปรุงให้กว้างขวางขึ้น แต่ยังเป็น 2 หลัง มีช่อฟ้าใบระกา อย่างเดิม ในปี พ.ศ. 2519 ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่เป็นหลังเดี่ยวยกพื้น 2 ชั้น แบ่งเป็นสัดส่วนมีอาสนะสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ และพื้นนั่งสำหรับฆราวาส หลังคาทรงปั้นหยา และย้ายป้ายวงกลมมาไว้หน้าจั่วตรงกลาง ปัจจุบันแพโบสถ์น้ำทางวัดใช้ประกอบกิจกรรมตามประเพณี เช่น ลอยกระทง และใช้ในโอกาสวันสำคัญๆ ของจังหวัด และนอกจากนี้ยังให้ชาวแพขอยืมไปใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น แต่งงาน บวชนาค ทำศพและทำบุญต่างๆ นับว่าเป็นแพที่มีประวัติความเป็นมาที่ดีงาม มีคุณประโยชน์ต่อชาวอุทัยธานีเป็นอย่างมาก

ภาพแพโบสถ์น้ำวัดอุโปสถาราม

 

จารึกภาษาบาลี “สุ อาคตํ เตมหาราชา”

พระหล่อเงิน ศิลปะรัตนโกสินทร์

เป็นพระพุทธรูปที่ชาวอุทัยธานีจัดสร้างเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2444 ดังปรากฏในจดหมายเหตุว่า “พระครูอุทัยธรรมนิเทศ(จัน)”ทำแพช่อฟ้าไว้ถวายที่หน้าวัด แล้วเชิญพระพุทธรูปหล่อ ด้วยเงินสององค์ องค์หนึ่งหนัก 70 ชั่ง องค์หนึ่งหนัก 50 ชั่ง มาตั้งให้ทอดพระเนตร และขอพระราชทานถวายด้วย ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นพระซึ่งราษฎรได้มีใจศรัทธาหล่อขึ้นควรจะไว้ให้เขาได้สักการะบูชา จึงไม่ทรงรับพระทั้งสององค์

ภาพพระพุทธรูปหล่อเงินวัดอุโปสถาราม

ของพระราชทานฝากจากรัชกาลที่5 

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในปี พ.ศ. 2444 พระองค์ท่านได้พระราชทานของฝากแก่หลวงปู่จัน (เจ้าอาวาสวัดอุโปสถารามในสมัยนั้น) ไว้หลายสิ่ง อาทิเช่น

ย่ามหนัง เป็นย่ามสักหลาดขนาดเล็ก พิมพ์ข้อความว่า “ของพระราชทานฝากเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ ”

บาตร / ฝาบาตรประดับมุก

เป็นบาตรและฝาบาตรที่ได้พระราชทานฝากให้แก่หลวงปู่จันจำนวน 2 ใบ โดยฝาบาตรทารักประดับมุกฝีมือช่างสิบหมู่สวยงามมาก ฝาหนึ่งเป็นลายรูปสิงห์ อยู่ในวงกลมที่มีรัศมี อีกฝาหนึ่งเป็นลายกนกเถา อยู่ในวงกลมที่มีรัศมี มีลวดลายที่ขอบ และมีลายดอกพิกุลประดับรอบวงกลมและที่ขอบด้านล่าง จัดว่าเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าต่อชาวอุทัยธานีเป็นอย่างมาก

ภาพบาตร / ฝาบาตรประดับมุก / ย่ามหนัง /

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์