วัวแดงตายที่ชายขอบมรดกโลก !!
การส่งสัญญาณเตือนที่เราไม่อยากให้เกิด …
“…เราพบร่องรอยโรคที่ซอกขาหน้า เป็นก้อนฝีขนาดพอสมควร วินิจฉัยสาเหตุการตายได้ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย”
++++++++++++++
วัวแดงรุ่น ตัวเมียถูกพบตายอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ติดเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยแข้งเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา
ตำแหน่งที่พบเป็นพื้นที่กันชนของเขตฯ ห้วยขาแข้ง ตามพิกัด 541308 E และ 1722167 N จากการตรวจสอบข้อมูล นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระบุว่า จุดนี้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา – คอกควาย ด้านหลังหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก และเป็นพื้นที่ที่มีการเดินสำรวจ และเตรียมผนวกเพิ่มเติมเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเร็วๆ นี้
จากการเข้าตรวจสอบซาก ไม่พบร่องรอยถูกยิง หรือบาดแผลการทำร้ายโดยมนุษย์ หรือบาดแผลจากสัตว์ผู้ล่าหรือรอยช้ำจากการต่อสู้กันเอง
นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งร่วมตรวจพิสูจน์การตายของวัวแดงร่วมกับนายสมพร พากเพียร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระบุว่า
“เราพบร่องรอยโรคที่ซอกขาหน้า เป็นก้อนฝีขนาดพอสมควร วินิจฉัยสาเหตุการตายได้ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่สภาพซากตายมาหลายวันจนเริ่มเน่าจึงไม่สามารถเก็บเนื้อเยื่อตรวจในแล็ปได้”
หลังจากตรวจวินิจฉัยซากแล้วจึงทำการขุดหลุมลึกเพื่อกลบฝัง และโรยปูนขาวเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคในตำแหน่งที่พบซาก ไกลจากแหล่งน้ำ
เมื่อพิจารณาจากจุดที่พบซาก อยู่ทางด้านใต้ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ประมาณ 1 ก.ม. และห่างจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือประมาณ 1.3 ก.ม. ห่างจากแนวลำห้วยทับเสลาประมาณ 800 เมตร
ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะวัวแดง อาจติดเชื้อโรคจากปศุสัตว์ที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงอย่างผิดกฎระเบียบจำนวนนับพันตัว จนนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการเสนอทางเลือกต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งให้นำปศุสัตว์ออกจากพื้นที่ และกำหนดแนวทางจัดการพื้นที่กันชน โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน
นายชัชวาล พิศดำขำ อดีตหัวหน้าเขตฯห้วยขาแข้ง และอดีตผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ในฐานะผู้ประสานงานอาวุโสโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก แสดงความกังวลว่า ความตายของวัวแดงเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะในพื้นที่มีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคที่มาจากปศุสัตว์
“วัวแดง ยังคงออกมาหากินนอกพื้นที่เพราะถิ่นอาศัยเชื่อมต่อกัน หากมีการติดเชื้อจากปศุสัตว์ จะเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ของสัตว์หายากที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากกระทิงที่กุยบุรี เรื่องนี้น่าวิตกกว่าการล่าโดยตรง เพราะจะส่งผลต่อจำนวนของวัวแดงที่เหลืออยู่ไม่มากแล้วในธรรมชาติ”
โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพฯ หรือโครงการเสือ พยายามผลักดันแนวทางจัดการพื้นที่กันชน หรือ bufferzone management โดยมุ่งเน้นจัดการพื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้เกิดการทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยเล็งเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้การปกป้องพื้นที่ภายในที่ต้องทำต่อไปอย่างเข้มแข้ง เพราะปัจจัยคุกคามทั้งหมดล้วนก่อตัวมาจากพื้นที่กันชนทั้งสิ้น
“แนวทางแก้ไขต้องสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็ง และให้เกิดการมีส่วนร่วมในเชิงอนุรักษ์”
โครงการได้ริเริ่มให้มีชุมชนที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ส่งเสริมการผลิตและบริการที่เน้นการอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าอย่างฉันมิตร การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินจากพืชไร่เชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรประณีตที่เป็นอินทรีย์ มีรอบเก็บเกี่ยวระยะสั้น รวมถึงริเริ่มการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อลดความขัดแย้ง และแก้ปัญหาปศุสัตว์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งๆที่มีเจตนาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่กันชน
ห้วยขาแข้งสืบสาน @seubsarn
https://www.facebook.com/seubsarn/posts/2643805802306815