ภาพชีวิตแห่งบรรพกาล เขาปลาร้า

ภาพชีวิตแห่งบรรพกาล

เมื่อไต่แนวก้อนหินที่อยู่ระเกะระกะบนพื้นตามแนวเหนือใต้ จะมองเห็นภาพเรียงไล่กันไป มีขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน ภาพที่ปรากฏอยู่สูงจากพื้นที่ดินตั้งแต่ระดับ ๔ เมตร จนถึงระดับ ๖-๗ เมตรภาพที่อยู่ต่ำที่สุดอยู่นอกเพิงหลังคาเล็กน้อย สีจึงซีดจากลง เข้าใจว่าถูกชะสี ภาพทั้งหมด
เขียนด้วยสีดำ สีแดงเข้มและสีแดง มีการเขียนซ้อนทับกันอยู่หลายภาพ แต่ยังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า เป็นการสร้างสรรค์งานที่ต่างช่วงสมัยกัน หรือร่วมสมัยกันแต่เขียนกันคนละคราว
พิจารณาจากลักษณะของภาพ อาจกล่าวได้ว่ามีเทคนิคการลงสีต่างๆ กัน ได้แก่

๑. แบบเงาทึบ(silhouette)
๒. แบบเงาทึบบางส่วน(partial silhouette)
๓. แบบโครงร่างภายนอก(outline)
๔. แบบกิ่งไม้(stick figure)
๕. แบบเส้นร่าง(sketch)

การปรากฏภาพที่เป็นเส้นร่างเฉยๆ และการเขียนภาพซ้อนทับลงไปบนภาพเดิมในบางตำแหน่งอาจให้ความหมายว่าผนังเพิงผาแห่งนี้ใช้เป็นที่สร้างสรรค์งานศิลปะถ้ำเพื่อพิธีการสืบเนื่องกันมา
กล่าวคือ การสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมด้วย และไม่อาจทราบได้ว่าเพราะเหตุใดงานสร้างสรรค์ครั้งสุดท้ายจึงไม่แล้วเสร็จ ปรากฏเป็นภาพร่างอยู่เท่านั้นภาพที่ปรากฏมีกว่า ๔๐ รูปลักษณ์ แต่ที่ปรากฏชัดเจน เขียนเสร็จสมบูรณ์หรือค่อนข้างสมบูรณ์มีประมาณ ๓๐ รูปลักษณ์ ส่วนใหญ่เป็นรูปคนในท่าทางต่างๆ กัน รวมทั้งการแสดงความสัมพันธ์กับสัตว์สัตว์ที่ปรากฏในภาพ ได้
เพื่อง่ายต่อการอธิบายตามตำแหน่งที่ปรากฏภาพคั่นด้วยช่องว่างขอแบ่งภาพทั้งผนังออกเป็นกลุ่มๆดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ ๑ เป็นรูปลักษณ์แรกของผนัง คืออยู่ริมสุดของผนังด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรูปคนเขียนด้วยสีแดงเข้ม

แบบทึบ(Silhoueette) แสดงส่วนด้านข้าง (Profile) ในท่าย่อเข่าคู้ตัวไปข้างหน้าเหยียดแขนข้างหนึ่งออกไป อีกข้างยกขึ้น หักศอกเป็นมุมฉาก กรีดนิ้วออกทั้งห้า เข้าใจว่าเป็นท่าเต้นหรือฟ้อนรำตามจังหวะอย่างหนึ่ง รายละเอียดของภาพนี้ยังแสดงให้เห็นน่องที่โป่งพอง มีชายผ้าห้อยหลังเป็นเส้นๆ คล้ายหาง และมีหน้าท้อง ซึ่งดูไปแล้วอาจเป็นภาพคนท้องกำลังฟ้อนรำก็เป็นได้

กลุ่มที่ ๒ เป็นรูปลักษณ์สีแดงที่ลบเลือนไปมากแล้ว เนื่องจากถูกน้ำฝนชะสีหลุดล่อนไป อย่างไรก็ดียังพอจับเค้าได้ว่า ภาพกลุ่มนี้มีรูปลักษณ์ขนาดคน๓ คนหันหน้าเข้าหากัน คล้ายจับระบำกันเป็นวงกลมสังเกตได้จากการย่อเข่า และแขนสองข้างที่ยกสูงขึ้นเป็นมุมฉาก ลักษณะท่าเต้นเช่นนี้ดูคล้ายคลึงกับท่าเริงระบำของกลุ่มคนบนผนังถ้ำผาแดง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รายละเอียดของรูปลักษณ์ที่ยังเหลืออยู่ก็คือ การแสดงลักษณะน่องที่โป่งพองชายผ้าพก และห้อยย้อย และมีการตกแต่งร่างกายเข้าใจว่า ภาพนี้เขียนเมื่อเสร็จสมบูรณ์และเป็นรูปลักษณ์ที่เขียนแบบเงาทึบบางส่วน

กลุ่มที่ ๓ เป็นรูปลักษณ์ที่อยู่ล่างสุดของผนัง คือสูงจากพื้นเพียง ๔ เมตรเท่านั้น มีรูปลักษณ์ที่เห็นชัดคือรูปวัว เขียนสีแดงแบบเงาทึบบางส่วน เพื่อแสดงการตกแต่งส่วนลำตัวของวัวหรือต้องการแสดงภาพแบบเอ็กซเรย์ (x-ray) คือให้มองทะลุเห็นส่วนโครงร่างภายใน

ภาพกลุ่มที่ ๓

กลุ่มที่ ๔ อยู่เหนือภาพกลุ่มที่ ๒ ขึ้นไป ประมาณ ๑ เมตร เป็นรูปลักษณ์เขียนด้วยสีแดงเข้ม เป็นภาพคน ๒ คนหันหน้าเข้าหากันขณะฟ้อนรำ คนหนึ่งเขียนแบบเงาทึบ (silhouette)อีกคนหนึ่งเขียนแบบโครงร่างภายนอก(outline)ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายรูปลักษณ์ของภาพกลุ่มที่ ๑๓ มาก

กลุ่มที่ ๕ เป็นกลุ่มที่ชัดเจนและสวยงามมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เป็นภาพเขียนสีแดงประกอบด้วยรูปลักษณ์ต่างๆ คือรูปคน ๒ คน สุนัข ๒ ตัว รูปลักษณ์แต่ละรูปมีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกัน รูปคนตัวใหญ่และรูปสุนัขตัวริมสุดเขียนแบบเงาทึบบางส่วน (Partial silhouette) หรืออาจเป็นการเขียนภาพแบเอ็กซเรย์ (X - ray) ก็ได้ หากว่าบริเวณส่วนลำตัวของคนที่ดูคล้ายเป็นซี่โครงนั้นไม่ได้หมายถึงการตกแต่งร่างกายรูปคนตัวใหญ่นี้เป็นการวัดด้านข้างผสมกับด้านหน้าตรง เป็นการบิดมุมมองทำให้เกิดมิติขึ้นในภาพ (twisted perspective) เพื่อสื่อสิ่งที่ต้องการ กล่าวคือ การแสดงทางด้านข้างด้วยส่วนขา หน้า และแขน แสดงให้เห็นว่ารูปลักษณ์กำลังเคลื่อนไหวไปข้างหน้าไปสู่ทิศเหนือ ขณะเดียวกันการบิดมุมมองโดยวาดส่วนลำตัวด้านตรงการสามารถแสดงรายละเอียดการตกแต่งร่างกายหรือโครงร่างแกนภายในได้ด้วย รูปคนตัวเล็กที่อยู่ตอนหน้าเป็นแบบเงาทึบและเป็นการวาดภาพด้านข้างอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับรูปหมาที่อยู่กลางภาพ การแสดงภาพด้านข้างของรูปคนตัวเล็กแทนที่นะแดงด้านหน้าตรงเช่นคนตัวใหญ่ น่าจะสมพันธ์กับความประสงค์ที่จะเน้นให้เห็นเต้านมและหน้าท้อง ซึ่งเข้าใจว่าคนตัวเล็กนี้เป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์

     ภาพรวมของภาพกลุ่มนี้คือ ท่าการฟ้อนรำโดยท่ารำของคนตัวใหญ่และคนตัวเล็กต่างกันคนตัวเล็กแสดงท่ารำที่ร้อง โน้มตัวไปข้างหน้าขณะกาวเดิน สัมพันธ์กับแขนสองข้างที่เหยียดออกไปข้างหน้าพร้อมกับกรีดนิ้วทั้งสอง ขณะที่คนตัวใหญ่เหยียดแขนข้างหนึ่งออกไปอีกข้างหนึ่งยกตั้งฉากขึ้นในมือคล้ายชูธัญพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง รายละเอียดของภาพกลุ่มนี้นอกจากการแสดงอวัยวะเพศที่ชัดเจนซึ่งบอกให้ทราบว่าคนตัวเล็กเป็นเพศหญิง คนตัวใหญ่เป็นเพศชาย แล้วยังแสดงน่องโป่งพองเช่นเดียวกับรูปคนในอีกหลายกลุ่ม แสดงรายละเอียดของเท้าและนิ้วเท้าชัดเจน ส่วนใบหน้าที่ยื่นแหลมเข้าใจว่าต้องการแสดงจมูกที่มองเห็นได้ชัดจากหน้า ด้านข้าง เครื่องประดับศรีษะ เป็นพู่แฉกของตัวเล็ก (ผู้หญิง) กำไลข้อมือของคนตัวใหญ่ (ผู้ชาย) ชายผ้าห้อยหน้า ห้อยหลังเหมือนๆกันกับรูปคนในอีกหลายกลุ่ม

กลุ่มที่ ๖ รูปลักษณ์ที่เห็นเด่นชัดในกลุ่มนี้มี ๒ รูป คือ รูปคนและวัว เป็นภาพคนเดินตามวัวเชื่อมโยงด้วยเส้นคล้ายคันไถนา เป็นภาพเขียนสีแดงเข้มแบบเงาทึบบางส่วน ลักษณะเด่นของภาพคือ การเว้นส่วนหน้าขาว (ไม่ระบายสีทึบ) แสดงเส้นผม บนศรีษะประดับด้วยพู่ขนาดใหญ่และมีปลายยอด ๒ ยอดสูงขึ้นไปอีก นุ่งผ้ามีชายพกและชายผ้าห้อย มือด้านที่วางจากการจับคันไถ (?) แสดงมือขนาดใหญ่เห็นนิ้วทั้ง ๕ ชัดเจน รูปวัว เขียนแบบเงาทึบบางส่วน ส่วนใหญ่ใช้สีแดง เฉพาะส่วนคอที่ระบายดำแทรกอยู่ ส่วนลำตัววัวตกแต่งลวดลายงดงาม รูปวัวแสดงด้านข้างคล้ายเดินมุ่งไปทางทิศเหนือ ส่วนคนเป็นภาพด้านหน้าตรง ถ่างขาเก้กัง คล้ายกำลังประสบความยากลำบากในการบังคับวัวให้ไปในทิศทางและความเร็วที่ตนต้องการ เหนือภาพคนกับวัวนี้ขึ้นไปยังภาพร่างด้วยสีดำๆ เป็นโครงร่างของวัวอีกหลายตัว

กลุ่มที่ ๗ ภาพกลุ่มนี้อยู่เหนือภาพกลุ่มที่ ๕ และ ๖ เป็นภาพลงสีแดงและสีแดงเข้มแบบเงาทึบทุกรูปลักษณ์ เว้นแต่ภาพเส้นร่างเป็นสีดำที่แทรกอยู่ตามช่องว่างของรูปลักษณ์ ๖ รูปลักษณ์ที่เขียนได้คมชัดมาก รูปลักษณ์ทั้ง ๖ ประกอบด้วย รูปคน ๓ รูป รูปสัตว์ ๓ ตัว ได้แก่ อึ่งอ่าง (หรือกบ) เต่า รูปคนอยู่ในท่าเหยียดแขนร่ายรำ มีคนยืน ๒ คน อีกคนอยู่ในท่านั่ง แสดงส่วนหน้าท้องที่ป่องโตชัดเจน เข้าใจว่าเป็นภาพคนตั้งครรภ์ แขนเหยียดออกมาด้านหน้าเป็นท่าเดียวกับท่าฟ้อนรำของผู้หญิงในภาพกลุ่มที่ ๕ ลักษณะเด่นของรูปนี้คือการเน้นน่องที่โป่งพองและเครื่องประดับบั้นท้ายคล้ายพู่หางคล้ายหางไก่ ตอนกลางของภาพเป็นรูปคนเขียนสีแดงอ่อนกว่ารูปลักษณ์อื่นๆ อยู่ในท่าหันข้าง ขาชิด ย่อเข่า มือข้างหนึ่งเหยียดไปข้างหน้า อีกข้างยกขึ้นไปสัมผัสรูปไก่ที่เขียนด้วยสีแดงเข้มเหนือศรีษะของรูปคนรูปนี้ ถัดจากรูปคนรูปนี้ลงมา เป็นรูปคนนั่งเขียนด้วยสีแดงอ่อนจนดูคล้ายสีส้ม กางแขนชูขึ้นสองข้าง จุดเด่นคือมีหน้าท้องป่องโตเห็นได้ชัดและแสดงเส้นผมที่เขียนเป็นเส้นตั้งๆ ชูชัน รูปคนรูปนี้อยู่ระหว่างกลาง เป็นตัวคั่นระหว่างรูปอึ่งอ่างหรือรูปกบกับเต่า อาจเป็นเต่าภูเขา ซึ่งเป็นสัตว์ประจำเขาปลาร้าแห่งนี้ สัตว์สองตัวนี้เขียนด้านตรงเพราะเป็นด้านประเภทที่แสดงลักษณะของสัตว์นี้ได้ดี

 กลุ่มที่ ๘ อยู่ทางขวาของภาพกลุ่มที่ ๖ ภาพกลุ่มนี้เป็นภาพร่าง (sketch)ด้วยเส้นสีดำมากมาย บางภาพพอมองเห็นเค้าว่าเป็น ภาพวัว ภาพคน ซึ่งคล้ายคนแบบกิ่งไม้ (stick man)ลายเส้นบางตอนซ้อนทับกันจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร อย่างไรดี มีรูปลักษณ์หนึ่งซึ่งชัดจนที่สุดของกลุ่มนี้ เป็นรูปคนค่อนข้างเขียนด้วยสีแดง แบบเงาทึบเฉพาะส่วนขา ตั้งแต่ส่วนลำตัวขึ้นมาจรดศรีษะ แบบโครงร่างภายนอก (outline)แสดงพู่หางที่บั้นท้ายด้วยเส้นแฉกๆ และส่วนแขนเป็นโค้งบางๆ เหยียดโน้มไปเบื้องหน้า ส่วนท่อนล่างซึ่งเขียนเป็นแบบเงาทึบ คงแสดงให้เห็นน่องที่โป่งพองเช่นเดียวกับรูปคนอีกหลายรูปที่ชัดเจน อีกอย่างก็คือ ขนาดเท้าที่ค่อนข้างใหญ่

กลุ่มที่ ๙ เหนือภาพกลุ่มที่ ๗ มีรูปลักษณ์เขียนด้วยสีแดงแบบเงาทึบชัดเจนอยู่รูปเดียว นอกนั้นเป็นภาพร่างด้วยสีดำ ภาพร่างบางตอนดูคล้ายเป็นฉากหลังของรูปคนโดดๆ คนนี้ ซึ่งอยู่ในท่าเต้นที่แปลกออกไป ลักษณะท่ายืนคล้ายบิดสะโพก แบบที่เรียก ตริภังค์ขาข้างหนึ่งเหยียดตรง อีกข้างงอเข่า แสดงชายพกหน้าหลัง อกแอ่นแขนสองข้างกางออก บนศรีษะประดับพู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไปคล้ายน้ำพุ

 

 

กลุ่มที่ ๑๐ เหนือภาพกลุ่มที่ ๙ ขึ้นเป็นภาพกลุ่มใหญ่ที่ต่อเนื่องกัน แม้ว่ารูปลักษณ์แต่ละรูปจะแบ่งแยกให้ดูเป็นรูปโดดๆ ด้วยช่องว่าง แต่เมื่อจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะเห็นว่าภาพต่อเนื่องกันด้วยเนื้อหา มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ คือมองเห็นเป็นริ้วขบวน มีหมานำ คนร่ายรำเดินตาม ต่อด้วยคนจูงวัว และสัตว์มีเขาเป็นกิ่งคล้ายกวางอยู่ไม่ห่าง รูปลักษณ์ต่างมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือเช่นเดียวกันเริ่มตั้งแต่รูปแรก ซึ่งอยู่ต่ำสุดและเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งหน้าสุดของขบวน เป็นรูปหมา (สุนัข)

แบบเงาทึบ ลงสีแดงเข้มแสดงด้านข้าง เป็นภาพหมาที่เขียนง่ายๆ แต่ได้สัดส่วนและดูเหมือนจริงมาก ตามมาด้วยภาพคน เขียนแบบเงาทึบด้วยสีแดงเข้มแต่เขียนแบบบิดมุมมอง คือส่วนขาและส่วนหัวแสดงด้านข้าง แต่ลำตัวเป็นหน้าตรงยกแขนทั้งสองชูขึ้นเกือบได้ฉาก กรีดนิ้ว แสดงนิ้วและฝ่ามือให้เห็นชัดเจน บนศรีษะอาจเป็นเส้นผมที่ตั้งชูชันขึ้นหรือเครื่องประดับศรีษะที่ไม่เหมือนใคร ต่อด้วยภาพคนจูงวัว รูปคนเขียนแบบเงาทึบ ขณะที่วัวเขียนแบบเงาทึบบางส่วน ส่วนที่เว้นไว้ไม่เป็นเงาทึบอยู่บริเวณตอนกลางลำตัวของวัว ดูคล้ายการตกแต่งลวดลายบนลำตัววัวหรือผืนผ้าที่มีลวดลายพาดห้อยบนหลังวัวหรืออาจเป็นการเขียนแบบเอ็กซเรย์ (x-ray) คือให้เห็นโครงร่างของแกนภายในรูปวัวตัวนี้เขียนแสดงด้านข้าง ให้รายละเอียดสัดส่วนได้อย่างงดงามเหมือนจริงมาก รูปคนและวัวเชื่อมถึงกันด้วยสีแดง เข้าใจว่าเป็นเชือก ต่อจากคอวัวมาสู่มือคนที่เหยียดแขนออกไปลากจูงสุดกำลังและขาที่กางโค้งออกก็แสดงถึงการใช้พละกำลังที่ต้องยืนทรงตัวให้มั่นคง เพื่อลากวัวตัวโตให้เดินตามมาได้ในทิศทางที่ตนต้องการ รายละเอียดเด่นๆ ของรูปคนคือ แขนข้างหนึ่งชูขึ้นกรีดนิ้วคล้ายร่ายรำไปด้วย จูงวัวไปด้วย และกรอบสี่เหลี่ยมรอบข้อมือ เข้าใจว่าเป็นกำไลมือขนาดใหญ่ บนศรีษะตกแต่งด้วยพู่แฉก ถ้าไม่ใช่เป็นการตกแต่งพู่แฉกให้สุนัขแล้ว สัตว์ตัวนี้ก็น่าจะเป็นสัตว์จำพวกมีเขาเป็นกิ่งเหมือนกวาง ซึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือเช่นเดียวกับริ้วขบวนคนร่ายรำและคนจูงวัวกลุ่มนี้

กลุ่มที่ ๑๑ เป็นกลุ่มของรูปคนตัวใหญ่ ซึ่งอยู่ถัดจากรูปวัวมาทางขวามือของผู้ดู มีรูปลักษณ์ที่เขียนซ้อนทับกันอยู่ กล่าวคือ รูปคนตัวใหญ่เขียนด้วยสีแดงเฉพาะโครงร่างภายนอก (outline)ในท่ากางแขนกางขา บริเวณเอวคล้ายมีชายผ้าเป็นรูปห่วง บนศรีษะคล้ายไว้ผมยาวและมัดจุกไว้กลางกระหม่อม หรือเครื่องประดับศรีษะที่เป็นกระบังครอบและติดูข้างบน เป็นภาพที่เขียนซ้อนทับบนรูปวัวและทับบนพู่แฉก คล้ายเครื่องประดับศรีษะของคน หรือรูปกอหญ้า รูปวัวตัวเล็กจึงโผล่มาให้เพียงครึ่งตัวเป็นวัวสีแดงแบบเงาทึบบางส่วน ภาพคนตัวใหญ่ยังซ้อนพับอยู่บนภาพร่างลายเส้นสีดำอีกหลายภาพอย่างไรก็ดี ภาพคนตัวใหญ่นี้แม้จะเขียนให้เห็นเฉพาะโครงร่างภายนอก แต่แสดงสัดส่วนที่คล้ายคนจริงมาก

กลุ่มที่ ๑๒ อยู่ตอนล่างของภาพกลุ่มที่ ๑๑ มีรูปลักษณ์ที่ชัดเจน ๒ รูปลักษณ์ คือรูปคนและวัวกระทิงหันหน้าเข้าหากัน ที่มือข้างหนึ่งของคนคล้ายถืออาวุธ เข้าใจว่าเป็นรูปคนสู้กระทิง รูปคนเขียนด้วยสีแดงเข้มแบบเงาทึบและลงสีบางมากจนดูคล้ายคนแบบกิ่งไม้ ส่วนรูปวัวเป็นแบบโครงร่างภายนอกเขียนด้วยเส้นสีแดง บริเวณลำตัววัวและส่วนหัวมีสีระบายอยู่บ้าง ในภาพกลุ่มนี้ ยังมีภาพร่างด้วยเส้นสีดำ มีเค้ารูปวัวอยู่หลายตัว

กลุ่มที่ ๑๓ ถัดจากภาพคนสู้กระทิงมาทางขวาของผู้ดูเป็นภาพกลุ่มที่ ๑๓ เป็นภาพเขียนแบบเงาทึบและภาพร่างด้วยสีดำ จุดเด่นของภาพในกลุ่มนี้คือ รูปคนแบบกิ่งไม้ และคนนั่งชันเข่า กางแขน กางขา ออกข้างๆ ตัวคล้ายแมงมุม

ภาพกลุ่มที่ ๑๒-๑๓

กลุ่มที่ ๑๔ เป็นภาพที่อยู่สูงสุด เหนือภาพกลุ่มอื่นใด อยู่สูงในระดับ ๖-๗ เมตร รูปลักษณ์ที่เห็นชัดเจนมี ๓ รูปลักษณ์ เขียนด้วยสีแดงแบบโครงร่างภายนอก (outline)ผสมการตกแต่งที่ดูคล้ายภาพแบบเอ็กซเรย์(x-ray)เข้าใจว่าเป็นรูปลักษณ์ของคน ๓ คน แต่งกายและแสดงท่าทางเลียนแบบสัตว์ จึงเป็นท่าเต้นรำแบบโก้งโค้ง โน้มตัวไปข้างหน้ามาก คล้ายท่ากระโดดโลดเต้นของลิง ส่วนบั้นท้ายก็ประดับพู่หางให้ดูคล้ายลิง

ศิลปะเพื่อพิธีกรรม

ภาพลงสีทั้ง ๑๔ กลุ่มที่แบ่งไว้เพื่อสะดวกแก่การอธิบายข้างต้น แสดงถึงลักษณะร่วมกันคือ เป็นภาพที่แสดงลักษณะการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากระโดดโลดเต้นและร่ายรำ รูปคนและสัตว์เน้นถึงการตกแต่งร่างกาย อันเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อพิจารณาภาพทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง จะมองดูคล้ายริ้วขบวนแห่ มีการเริงระบำกับแสดงกิจกรรมของแต่ละกลุ่ม เรียงไล่กันลงมา ขนาดของคนในขบวนไม่เพียงแต่เน้นความสำคัญของแต่ละบุคคลที่ต่างกันแล้ว แต่ยังให้เกิดมิติ คือเป็นระยะใกล้ ไกล ของภาพอีกด้วย

รูปลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในภาพและสัมพันธ์กัน เมื่อประกอบรายละเอียดต่างๆ ที่เจตนาแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่เดินนำหน้าถือธัญพืชอย่างหนึ่ง มีผู้หญิงร่ายรำอยู่ด้วยกันพร้อมด้วยสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงและสัญญาณอย่างหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานถาวรแบบสังคมเกษตรกรรม ภาพคนกับวัวที่แสดงความสัมพันธ์กันตั้งแต่ คนจูงวัว คนไถนา มีขบวนแหนแห่ เริงระบำประกอบตลอดจนท่าเต้นที่เลียนแบบลีลาสัตว์ การต่อสู้กับกระทิงเหล่านี้เป็นภาพถึงภาพสะท้อนพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rite)เป็นสำคัญ เข้าใจว่ามีพิธีกรรมเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักคล้ายๆ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชนเกษตรกรรมในสมัยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะออกเฉียงใต้อย่างไรก็ดี ภาพการต่อสู้วัวกระทิงก็เน้นให้เห็นว่าชุมชนเจ้าของศิลปะถ้ำที่เขาปลาร้า ยังคงมีการเข้าป่าล่าสัตว์อยู่ด้วย

จากเรื่องราวที่ปรากฏในศิลปะถ้ำ ประกอบกับโบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ เปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่งใกล้เคียงและแหล่งอื่นๆ ที่กำหนดอายุไว้แล้ว จึงสันนิษฐานว่า ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า น่าจะเป็นงานรังสรรค์ของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว

เรียบเรียงโดย | นายถวิล พึ่งสุข ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอุทัยวิทยาคม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์