วัดพิชัยปุรณาราม

วัดพิชัยปุรณาราม

วัดพิชัยปุรณาราม ตั้งอยู่บนถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เดิมชื่อ วัดกร่าง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณพ.ศ.2301อดีตทางราชการได้จัดทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดนี้เป็นประจำ ในสมัยที่พระยาพิชัยสุนทรได้มาเป็นเจ้าเมืองอุทัยธานี ได้ทำการบูรณะพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น วัดพิชัยปุรณาราม ชาวบ้านมักเรียกสั้นๆว่า “วัดพิชัย”วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๘ มีอายุมากกว่า 200 ปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ยังคงรักษารูปทรงแบบเดิมไว้อย่างครบครัน

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดนี้คือ วิหาร เจดีย์ และพระประธานในวิหาร

วิหาร   ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตัวอาคารก่ออิฐถือปูนโครงสร้างเครื่องบนประกอบด้วยหลังคาประธาน ๑ ตับ มีหลังคาปีกนกลาดต่อจากหลังคาประธานและหลังคาซ้อนอีก ๑ ตับ มีเสาพาไล ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารเพื่อรองรับหลังคาปีกนกที่ยื่นออกมา

หน้าบันของวิหาร ใช้ไม้กรุประกอบกันเข้าเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหม มีการประดิษฐ์รูปแบบทำด้วยไม้เป็นรูปพระพุทธเจ้าลงรักปิดทองทึบ

ผนังด้านทิศตะวันออกเจาะเป็นประตูทางเข้า ๒ ช่องซุ้มประตูเป็นซุ้มทรงบันแถลง

ฝาผนังด้านข้างไม่มีช่องหน้าต่าง แต่เจาะเป็นช่องแคบๆขนาดกว้างไม่ถึงคืบ ยาวประมาณ ๒ คืบ เป็นช่องให้แสงเข้า

ผนังด้านทิศตะวันตก เจาะช่องลมมีลักษณะเป็นเครื่องหมายบวก(กากบาท) เป็นทางสูงขึ้นไปในฝาผนัง เพื่อเป็นทางระบายลมและช่องแสง

จากลักษณะของสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่า เป็นศิลปะสมัยอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น แต่สภาพวิหารที่เห็นในปัจจุบัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ แต่ยังรักษารูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้

ภายในวิหารประดิษฐานพระประธาน คือ หลวงพ่อชัยสิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัย

อู่ทอง ประทับนั่งบนฐานชุกชีรูปกลีบบัว เรือนแก้วครอบองค์พระ ลักษณะแบบเดียวกับเรือนแก้วที่วัดไลย์ ลพบุรี ปลายซุ้มเรือนแก้วเป็นรูปนาคเบือนผุดออกมาจากปากมาร นอกจากพระประธานแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิ ๔ องค์ และพระพุทธรูปยืน ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่ ด้านหลังของวิหารมีพระปรางค์ขนาดใหญ่ แต่เดิมเคยมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ด้าน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว  ด้านข้างของวิหารมีเจดีย์ ๓ องค์ตั้งเรียงกัน เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานซ้อนกัน ๔ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวกลุ่มย่อมุมไม้สิบสองรองรับองค์ระฆังซึ่งย่อมุมไม้สิบสองเช่นกัน ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเถา ถัดขึ้นไปเป็นปลีและลูกแก้ว ปัจจุบันส่วนยอดชำรุดหักหายไปหลายองค์ เหลือสภาพสมบูรณ์เพียงองค์เดียว นับว่าวิหารหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ควรภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวอุทัยธานี

อุโบสถ

            ลักษณะอาคาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด ๔ ห้อง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘.๒๐ เมตร ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อปี  ๒๕๑๒ และ ปี ๒๕๕๙

โครงสร้างเครื่องบน เป็นหลังคาประธาน ๑ ตับมีหลังคาซ้อนทางด้านหน้าและด้านหลัง ๑ ตับ มีหลังคาปีกนกลาดต่อจากหลังคาประธานและหลังคาซ้อนอีก ๑ ตับ เครื่องลำยองเป็นปูนซีเมนต์หล่อถอดพิมพ์

หน้าบันด้านหน้า เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสีเขียว รูปพระพุทธองค์ยืนขนาบข้างด้วยพระสาวก ใต้หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นเป็นลายสาหร่ายรวงผึ้ง อุดหน้าปีกนกทั้ง ๒ ข้าง มีลวดลายปูนปั้นลักษณะคล้ายลายกนก หน้าบันด้านหลัง เป็นปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจกสีเขียว ลวดลายเหมือนกับหน้าบันด้านหน้า

ผนังด้านทิศตะวันออก มีประตูเข้า ๒ ช่องระหว่างช่องประตูทั้งสอง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร ผนังด้านทิศตะวันตกมีประตูอีก ๒ ช่อง

ผนังด้านข้าง มีช่องหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ประตูหน้าต่าง มีลักษณะเดียวกัน คือเป็นช่องสี่เหลี่ยม เหนือกรอบประตูหน้าต่าง เป็นกรอบลายปูนปั้นสามเหลี่ยม ภายในประดับด้วยปูนปั้นรูปพันธ์พฤกษา

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระสาวกยืนอัญชลีอยู่ ๒ ข้าง เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผสมผสานกับลักษณะแบบท้องถิ่น

         ลักษณะจิตรกรรม

เป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เขียนขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๖ – ๗ ลักษณะการเขียนเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น มีการเขียนสีที่บาง พื้นแกหลังใช้สีอ่อน การจัดองค์ประกอบภาพ การใช้สี ตลอดจนการวาดภาพบุคคลต่างๆ มีลักษณะการแสดงออกที่เป็นอิสระ ไม่เคร่งครัดระเบียบแบบแผนมากนัก

การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ

เป็นเรื่อง เกี่ยวกับ พุทธประวัติ จันทโครพ และเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรของพระสงฆ์

ลำดับภาพจิตรกรรมฝาผนัง

         ผนังด้านทิศตะวันออก (ด้านหน้าพระประธาน) เขียนเรื่องพระมาลัย โดยผนังตอนล่างเขียนเป็นภาพขุมนรกต่างๆ ผนังตอนบน เป็นภาพพระมาลัยไปสักการะพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์สวรรค์ดาวดึงส์

ผนังด้านทิศตะวันตก (ด้านหลังพระประธาน) ตอนบนเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ถัดลงมาตรงกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนมีพระสาวกยืนอัญชลีอยู่ ๒ ข้าง ด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน เป็นภาพพระสาวกและพระธุดงค์ ผนังตอนล่างเป็นภาพซากอสุภกรรม

ผนังด้านทิศใต้  ตอนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งมีพระสาวกและเทวดานั่งอัญชลี ผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นเรื่องจันทโครพ ดำเนินเรื่องตั้งแต่จันทโครพรับผอบจากพระฤาษีจนถึงนางโมราไปอยู่กับโจรป่า

ผนังด้านทิศเหนือ ตอนบน เป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพานจนถึงถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ผนังตอนล่าง เขียนภาพเล่าเรื่องวรรณกรรมในศาสนา วรรณคดี หรือเรื่องในวรรณกรรมพื้นบ้าน มีการดำเนินเรื่องติดต่อกัน

เพดาน  พื้นสีแดง มีลายฉลุปิดทอง เป็นรูปดาวเพดาน และค้างคาว

ขื่อ ทาสีเขียวคาดแดง ประดับด้วยลายแลปิดทอง ลายกรวยเชิงและลายดอกไม้สี่กลีบ

คุณค่าทางจิตรกรรม เป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๖ – ๗ มีลักษณะเด่นที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่นออกมาอย่างชัดเจน เช่น ฝีมือทางช่าง เรื่องที่เขียน โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตชาวบ้านมีการแต่งกายแบบต่างๆการแสดงกิริยาอย่างเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์