Skip to content
วัดธรรมโฆษก
สถานที่ตั้ง เลขที่ ๑๔๙ ถนนณรงค์วิถี ตำบลอุทัยใหม่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
ประวัติความเป็นมา
วัดธรรมโฆษก เดิมมีชื่อว่า “วัดโรงโค” สร้างเป็นวัด เมื่อพ.ศ.2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ.2345 แต่ เดิมวัดนี้ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ต่อมาใช้เป็นแดนประหารนักโทษ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ วิหารและอุโบสถ ซึ่งเป็นสถานที่เคารพรักสักการะของชาวอุทัยธานีแต่โบราณ
โบราณสถานที่สำคัญ
วิหารวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างเคียงคู่กับอุโบสถ เป็นอาคารขนาด ๔ ห้อง มีประตูเข้าทางด้านหน้า(ทิศตะวันออก) ๒ บาน ประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม เหนือกรอบหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและเรื่องรามเกียรติ์ ภายในมีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์
ด้านอุโบสถ และวิหาร
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ๓ องค์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจดีย์ทรงปรางค์ ๕ ยอด ตั้งอยู่หน้าวิหารเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๔
อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๔ ห้อง กว้าง ๖.๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โครงสร้างหลังคา เป็นหลังคาประธาน ๑ ตับ มีหลังคาซ้อนทางด้านหน้าและด้านหลัง ๑ ชั้น และมีหลังคาปีกนกลาดต่อจากหลังคาประธาน และหลังคาซ้อนอีก ๑ ตับ เครื่องลำยองเป็นปูนซีเมนต์หล่อถอดพิมพ์
ตัวอาคาร ที่ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ ๔ บาน มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ บาน เหนือกรอบประตูและหน้าต่าง มีลายปูนปั้นเขียนสีลายพรรณพฤกษา ระหว่างประตู ๒ บาน มีซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ที่ผนังด้านหลัง ภายนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายองค์ เช่นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ปางห้ามพระแก่นจันทน์ ปางสมาธิ สำหรับพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระสาวกยืนอัญชลีอยู่ ๒ ข้าง
ลักษณะจิตรกรรม เป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว บนผนังที่มีการเตรียมรองพื้น ลักษณะการเขียนสีบาง พื้นแกหลังเป็นสีอ่อน ฝีมือช่างประณีต งดงาม สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๔ การเขียนภาพเทพชุมนุม มีลักษณะคล้ายกับภาพเทพชุมนุมในจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดอุโปสถาราม จากลักษณะและรูปแบบของการเขียนภาพสันนิษฐานว่าเขียนโดยช่างท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลในการเขียนภาพจากช่างหลวง(ช่างที่มาจากรัตนโกสินทร์) การเขียนภาพจิตรกรรมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่อง พุทธประวัติ เทพชุมนุม
ลำดับภาพจิตรกรรม
ผนังด้านทิศตะวันออก(ด้านหน้าพระประธาน) เหนือกรอบประตูด้านบนจนจรดเพดานเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ
ผนังด้านทิศตะวันตก(ด้านหลังพระประธาน) เขียนเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา(สิริมหามายาเทพบุตร) บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์
ผนังด้านทิศเหนือ ช่วงบนเหนือขอบหน้าต่างจนจรดเพดาน เขียนเรื่องภาพชุมนุมสลับกับพัดยศ
ผนังด้านทิศใต้ ตอนบนช่วงบนเหนือขอบหน้าต่างจนจรดเพดาน เขียนเรื่องภาพชุมนุมสลับกับพัดยศ ตอนล่างเขียนเป็น พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จประทับในป่าปาลิไลยกะ มีพญาวานรถวายรวงผึ้ง
และพญาช้างถวายคณโฑน้ำ
เพดาน ทาสีแดง เขียนลวดลายดาวเพดาน ขื่อลงรักสีดำมีการเขียนลวดลายประดับ
คุณค่าทางจิตรกรรม เป็นจิตรกรรมที่น่าจะเขียนขึ้นมาไล่เรียงกับวัดอุโปสถารามคือช่วงประมาณรัชกาลที่ ๔ เพราะมีลักษณะการเขียนภาพบางประการที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเขียนภาพเทพชุมนุม และวรรณะของสีที่ใช้ ฝีมือช่างที่สร้างสรรค์ผลงาน มีความประณีต งดงาม จัดว่าเป็นจิตรกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่งของจังหวัดอุทัยธานี
อุโบสถ
ลักษณะการก่อสร้างคลายวิหารแต่ระดับพื้นต่ำกว่าเล็กน้อย ภายในอุโบสถมีพระประธาน เป็น พระพุทธรูปปางสะดุ้งมารและที่สำคัญ คือ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธองค์ ด้านหลังพระประธานเป็นตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ด้านหน้าเป็นตอนมารผจญส่วนด้านข้างเป็นภาพเทพ ชุมนุมสลับพัดยศ พื้นบนเป็นเครื่องไม้มีลวดลายดอกประจำยามเรียงราย โดยทั่ว พื้นล่างปูด้วยเครื่องซีเมนต์ ภายนอกหน้าบันซุ้มประตูและหน้าต่างมีปูนปั้นลวดลายเครือเถาเหมือนวิหาร กำแพงอุโบสถก่อต่อเนื่องกับ ฐานวิหาร หลังอุโบสถมีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
วัดนี้จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ สันนิษฐานว่าจะมีอายุกว่า 400 ปี เพราะได้ซ่อมมาแล้ว หลายชั่วอายุคน พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถแม้จะบูรณะแล้วก็ยังผุกร่อนให้เห็นเป็น ประจักษ์ว่าเก่าแก่มานานหลายร้อยปี และตามประวัติศาสตร์ก็เป็นวัดที่มีความสำคัญมากมีหมอนวดแผนโบราณให้บริการอยู่ใต้ศาลาวัด เป็นที่ประทับใจแก่คนขี้เมื่อย วัดนี้จึงเป็นสถานที่น่าศึกษาและอนุรักษ์ ซ่อมแซมให้คงคู่อยู่ในบวรพุทธศาสนาต่อไป
Skip to content